[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by ATOMYMAXSITE 2.5
เว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้เรื่องวิจัย ประเมินโครงการ และผลงานทางวิชาการ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

ยินดีต้อนรับคุณ บุคคลทั่วไป  
Your IP 3.236.207.90   
English Chinese (Simplified) Chinese (Traditional) French German Italian Japanese Korean Portuguese Russian Spanish Vietnamese Thai     
ค้นหา   
เมนูหลัก
หลักสูตรฝึกอบรม
เว็บลิงค์น่าสนใจ
สถิติผู้เยี่ยมชม

 เริ่มนับ 11/ส.ค./2556
ผู้ใช้งานขณะนี้  IP
ขณะนี้
คน
สถิติวันนี้
คน
สถิติเมื่อวานนี้ี้
คน
สถิติเดือนนี้
คน
สถิติปีนี้
คน
สถิติทั้งหมด
คน
IP ของท่านคือ 3.236.207.90
(Show/hide IP)
ระบบสมาชิก
Username :
Password :
[ สมัครสมาชิก ] | [ ลืมรหัสผ่าน ]
สมาชิกทั้งหมด 311 คน
สมาชิกที่กำลังออนไลน์ 0 คน

  

  หมวดหมู่ : บทความทางวิชาการ
เรื่อง : เคล็ดลับ : เทคนิคในขั้นตอนการคิด
โดย : admin
เข้าชม : 2004
อาทิตย์ ที่ 11 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2556 ปักหมุดและแบ่งปัน
     

เคล็ดลับ : เทคนิคในขั้นตอนการคิด

     ขั้นตอนการคิดเป็นขั้นตอนแรกของการทำผลงานทางวิชาการ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อตัดสินใจเลือกองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะทำ โดยมีเคล็ดลับและเทคนิคต่าง ๆ 18 ประการ ซึ่งได้กล่าวโดยสรุปไว้บ้างแล้วในบทความข้างต้น สำหรับบทความนี้ จะกล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละเคล็ดลับ : เทคนิคต่าง ๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์หรือเปรียบเทียบกับเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เรียงตาม ลำดับเคล็ดลับ: เทคนิคในขั้นตอนการคิด ดังนี้

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 1 เลือกทำสิ่งที่รู้
การทำผลงานทางวิชาการ ต้องใช้เวลาและความพยายามตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ มาก เคล็ดลับและเทคนิคที่สำคัญที่สุดตั้งแต่เริ่มต้น คือ ตัดสินใจทำสิ่งที่รู้เท่านั้น โดยสำรวจว่ามีความรู้จากการศึกษา ประสบการณ์ การปฏิบัติหรือทดลองอะไรบ้าง เมื่อทำสิ่งที่รู้ การเขียนก็จะมีความมั่นใจ หนักแน่น น่าเชื่อถือ เหมือนกับคนพูดจริงเสียงดังฟังชัด เขียนได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว ประสบกับปัญหา หรือมีอุปสรรคน้อย
การเลือกในครั้งแรกสุดนี้ ไม่ควรเลือกสิ่งที่ชอบโดยไม่รู้ หรือเลือกเรื่องที่กำลังได้รับความนิยม หรือเพื่อนบอกว่าจะช่วย ฯลฯ เปรียบเสมือนถ้าได้รับเชิญให้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ก็ควรเลือกเพลงที่ถนัด ไม่ควรเลือกตามใจคนขอ แล้วต้องมาหัดอยู่ข้างเวทีในเวลาสั้น ๆ แม้จะมีคนบอกว่าช่วยร้องคลอให้ก็ตาม เพราะถ้าผิดพลาดหรือโดนโห่คนร้องคลออาจลงเวทีไป ต้องยืนรับกรรมอยู่คนเดียว ลงไม่ได้เหมือนกับโดนสายไมค์พันขาไว้
อย่างไรก็ตามถ้าเลือกทำสิ่งที่รู้แล้ว มีคนช่วยด้วยก็ยิ่งดี จะเอื้อให้ทำผลงานได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเปรียบกับการขับรถก็ต้องขับเองให้เป็น ถ้าเพื่อนช่วยขับตอนที่กำลังอ่อนล้าก็จะดี แต่ถ้าคราใดเพื่อนเล่นตัวไม่ช่วยขับก็ต้องขับกลับบ้านเองได้ ไม่ใช่ต้องง้อเขาอยู่ร่ำไป คนที่เลือกทำสิ่งที่ไม่รู้จะทำไปอย่างฝืน ๆ เหมือนกับรถพวงมาลัยกินซ้ายหรือขวามาก ต้องออกกำลังและระวังมากตลอดเวลา เผลอเมื่อใดก็จะพลาดลงข้างทางในที่สุด

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 2 เลือกทำสิ่งที่ชอบ
เมื่อผ่านเงื่อนไขแรก คือ เลือกทำสิ่งที่รู้ดังกล่าวแล้ว ต่อมาถ้าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยก็ยิ่งดี แต่ถ้าเลือกทำสิ่งที่ชอบแต่ไม่รู้ก็เปรียบเสมือน “หุ่นไม่ให้แต่ใจรัก มักอกหักหรือพลาดเสมอ” ดังที่พบเห็นกันโดยทั่วไป บางคนอยากเป็นศิลปิน นักร้อง ยิ่งมีคาราโอเกะให้ฝึกได้ก็พยายามเข้าร้านโน้นออกร้านนี้ เมื่อถึงคิวจะร้องแขกโต๊ะอื่น ๆ ก็เริ่มทยอยกลับ คนร้องก็ไม่คิดอะไรดีเสียอีกจะได้ร้องมากหรือเผลอ ๆ อาจได้ร้องคนเดียว เดือดร้อนเจ้าของร้านต้องมาเตือนให้หยุดพักบ้าง เผื่อจะได้แขกที่ยังคงทนฟังอยู่ไว้ช่วยค่าใช้จ่ายในร้านได้บ้าง
ความชอบหรือความสนใจในการทำผลงานจะเป็นการเสริมเรื่องที่รู้ ส่งผลให้ทำผลงานได้อย่างมีความสุขหรือเป็นทุกข์น้อยที่สุด ดังนั้น ถ้าผู้ทำผลงานคิดว่ามีสิ่งที่รู้อยู่หลายอย่าง ก็ควรเลือกทำในสิ่งที่ทั้งรู้ทั้งชอบด้วย เข้าทำนองช่วยประสานกัน หรือภาษานักการพนันเรียกว่า “ได้สองเด้ง” นั่นเอง

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 3 ยึดตัวเอง
การทำผลงานต้องยึดตัวเองเป็นหลัก เพราะต้องทำเอง คนอื่นช่วยได้ไม่มาก ไม่ควรไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วนำมาเป็นสิ่งบั่นทอน หรือชะงักการทำผลงานของตัวเอง เช่น เห็นว่าคนนั้นเก่งแทบตายแต่ยังไม่ผ่าน คนนั้นจบปริญญาโทก็ยังไม่ได้ทำเลย แล้วเราจะทำไหวหรือ เป็นต้น ซึ่งไม่ควรนำประเด็นเหล่านี้มาเปรียบเทียบกัน แต่ละคนก็จะมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป ในเมื่อมีสิทธิ์ทำเรื่องที่รู้หรือถนัดและชอบดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีโอกาสสำเร็จได้
นอกจากนี้ ไม่ควรเปรียบเทียบในประเด็นอื่น ๆ อีกที่พบได้บ่อย คือ ทำผลงานพร้อมกับเพื่อน เมื่อส่งไปแล้วผู้ตรวจแก้ของเรามากกว่าทั้ง ๆ ที่ผิดเหมือนหรือคล้ายกัน ส่วนใหญ่มักจะบ่นให้คนอื่น ๆ ฟัง ซึ่งไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นใจหรือช่วยเหลืออะไรได้บ้าง สิ่งที่ควรทำคือพิจารณาดูว่าที่เขาให้แก้ผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงก็ควรรีบแก้ ซึ่งเกือบทั้งหมดมักจะผิดจริง เข้าทำนองขับรถฝ่าไฟแดงกันตั้งหลายคันมาจับได้เฉพาะคันของเรา ก็ไม่จำเป็นต้องชี้ให้จับคันอื่น เพียงแต่ยอมรับและหาเงินจ่ายค่าปรับให้ครบก็พอ

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 4 อย่ากังวลว่าไม่เก่ง
ความเก่งเป็นคุณลักษณะที่ทุกคนต้องการ บางคนก็ตั้งชื่อให้ลูกหลานว่า “เก่ง” ซึ่งจะเก่งจริงหรือไม่ก็ค่อยดูกันต่อไป คนเก่งมักเป็นที่ชื่นชอบของใครต่อใคร ได้รับความยกย่อง เชื่อถือ ชื่นชมเสมอ อย่างไรก็ตามความเก่งก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ทั่วไปที่ไม่ใช่มีเฉพาะด้านบวกเท่านั้น ต้องมีด้านลบด้วยเช่นกัน ที่เห็นเสมอคือมักจะดื้อและหยิ่ง ทะนงตัว ใครก็ตามที่คิดว่าเก่งกว่าคนอื่นเมื่อไร หรือเก่งมากกว่าคนอื่นเท่าใดก็เตรียมเก่งน้อยลงเท่านั้น
จากประสบการณ์สอนในระดับบัณฑิตศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำวิทยานิพนธ์ได้ในระดับดีเยี่ยมไม่ใช่คนเก่ง หรือผู้ที่ทำรายงานได้ดีก็ไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนที่มีความตั้งใจมากกว่า มีการถามขอคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ แนะอะไรไปก็ทำตามอย่างมุ่งมั่น สุดท้ายเมื่อตรวจก็จะได้คะแนนเกือบเต็มเสมอ จะหักคะแนนได้ยาก เพราะเหมือนกับมีส่วนร่วมในงานนั้นด้วย อีกประการหนึ่งจะเห็นว่าการสอบบรรจุคนเข้ารับราชการ ผู้ที่สอบบรรจุได้ในลำดับท้าย ๆ จะทำงานได้ดีกว่าเสมอ เพราะมีความคิดว่าเป็นมวยรองต้องพยายาม ซึ่งถ้าทดลองทำได้ต่อไปน่าจะบรรจุคนจากลำดับท้ายก่อน ในการทำผลงานก็เช่นกัน กลุ่มคนที่สำเร็จคือคนที่พยายามซึ่งมีมากกว่าคนเก่ง
ถ้าเคยอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือดูโทรทัศน์ คงเคยเห็นหรือได้ยินว่า นักศึกษาที่ฆ่าตัวตายมักเป็นคนเก่ง เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง เคยสอบได้ที่ 1 อยู่เสมอ แต่พอสอบได้ที่ 2 ก็เครียดกระโดดตึก ในขณะที่นักศึกษาสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียงจะไม่มีการกระโดดตึกเพราะสอบได้ที่แย่ลง เช่น จากได้ที่ 39 เป็น 40 ก็ไม่เป็นไร ถ้าจะตกตึกก็เพราะโดนผลักมากกว่า

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 5 อย่ากังวลว่าจบไม่สูง
การทำผลงานทางวิชาการ ส่วนใหญ่เป็นประเภทงานวิจัยหรืองานประเมินต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่จบปริญญาโทหรือปริญญาเอกจะมีประสบการณ์มาก่อน น่าจะทำได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ แต่จากประสบการณ์กลับพบว่า ถ้าเป็นครูผู้ที่ทำผลงานได้สำเร็จแทบไม่มีผู้จบปริญญาโทเลย น่าจะเนื่อง มาจากตอนเรียนทำเหนื่อยมามากแล้ว หรือในเมื่อคนอื่นมองว่ามีความรู้ ถ้าทำไม่ผ่านเกรงจะเสียชื่อ หรือคิดว่าทำได้อยู่แล้วค่อยทำเมื่อไหร่ก็ได้ สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำสักที
นอกจากนี้ แม้ว่าจะเคยทำวิทยานิพนธ์ก็ไม่ได้รับประกันว่ารู้ไปหมดทุกเรื่อง และในขณะนี้บางหลักสูตรก็ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ จึงมีการล้อกันว่าจบ “โท โถ่ โถ้ โถ๊ โถ” เสียอีก หรืออีกมุมหนึ่งเมื่อเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องใดแล้วก็ยึดติดอยู่กับเรื่องนั้น ซึ่งถ้าจบมานานก็อาจล้าสมัยไปเสียแล้ว หรืออาจจะไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดให้ทำผลงานทางวิชาการก็เป็นได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าถ้าจบไม่สูงแล้วจะเป็นอุปสรรค

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 6 อย่ากลัวว่าฐานะไม่ดี
การทำผลงานก็เหมือนกับดำเนินการสิ่งอื่น ต้องมีการลงทุน แต่การทำผลงานก็ไม่ลงทุนอะไรมากมาย ทุกคนที่มีคุณสมบัติครบและต้องการจะทำ ย่อมอยู่ในวิสัยพร้อมจะทำได้ จริงอยู่ว่าถ้าฐานะขัดสนก็อาจจะขลุกขลักบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำผลงาน ความรวยก็เช่นเดียวกับความเก่งหรือสิ่งอื่น ๆ คือ มีทั้งข้อดีข้อเสีย เข้าทำนอง “เงินเป็นพิษก็มี” ตัวอย่างเช่น ลูกผู้ที่มีฐานะพ่อแม่จะตามใจ กลายเป็นคนทำอะไรไม่ค่อยเป็นชอบความสะดวกสบายจนเป็นนิสัย ดังที่เห็นกันได้ทั่วไป
ในการทำผลงานถ้ามีเงินก็อาจมีผลเสียได้ เช่น คิดว่าเงินค่าตำแหน่งที่จะได้จากการทำผลงาน มีเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า หรือที่ร้ายกว่านั้นก็คือ มีเงินมากมายมามัวนั่งทำให้เสียเวลาทำไม จ้างคนอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง เป็นต้น ดังนั้น จากประสบการณ์จึงพบว่า ในเขตพื้นที่หรือจังหวัดที่เศรษฐกิจดีๆ จะมีผู้ทำผลงานน้อย ส่วนในเขตพื้นที่หรือจังหวัดที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีจะมีผู้ทำผลงานมาก

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 7 เลือกทำสิ่งใกล้ตัว
เคล็ดลับและเทคนิคในข้อนี้ อาจจะเกี่ยวเนื่องกับการเลือกทำในสิ่งที่รู้ คือ โอกาสที่จะรู้ในสิ่งใกล้ตัวเป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ทั้งรู้และใกล้ตัวด้วยแล้ว ก็จะทำผลงานได้สะดวก โดยเฉพาะในการประสานหรือเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปถ้าเป็นการทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่งแล้ว หน่วยงานต้นสังกัดมักกำหนด ให้ทำผลงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ต้องปฏิบัติ กรณีที่มีหน้าที่ หลายประการ และผ่านเงื่อนไขรู้กับชอบแล้ว ก็ควรเลือกทำสิ่งที่ใกล้ตัว
ตัวอย่างที่พบเสมอก็คือ มักมีคำถามว่าครูผู้สอนทำผลงานประเภทประเมินโครงการได้หรือไม่ ซึ่งในเชิงวิชาการแล้วไม่มีปัญหา โดยเฉพาะครูที่ต้องรับผิดชอบโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน แต่ถ้าในเชิงบริหารสั่งการอาจประสบปัญหาได้ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการต่าง ๆ ได้ เช่น การสั่งเบิกจ่ายงบประมาณ การเก็บข้อมูลจากเพื่อนครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นต้น

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 8 เลือกทำสิ่งที่ยากจะใช้ประโยชน์ได้นาน
คำว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” คงเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน แม้เดินเจอเงินก็ต้องก้มลงเก็บ ไม่มีทางที่จะลอยมาเข้ากระเป๋าเองได้ เจอเงินจำนวนมากก็ต้องหยิบหนักขึ้นกว่าเดิม การทำผลงานทางวิชาการก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำเรื่องยาก ๆ มักจะใช้ประโยชน์ได้มากและนานด้วย บางครั้งอาจใช้ได้นานนับสิบ ๆ ปี จนเกษียณอายุราชการก็มี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ถ้าทำเรื่องเกี่ยวกับการประเมินองค์การ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก มีเอกสารที่เป็นภาษาไทยน้อยมาก เท่าที่ทราบขณะนี้มีผู้เขียนไว้โดยเฉพาะเพียงเล่มเดียวเท่านั้น ถ้าคิดจะทำก็ต้องค้นคว้าหนังสือ ตำรา ภาษาอังกฤษ หรือถ้าเป็นหนังสือภาษาไทย ก็ต้องเลือกเฉพาะเนื้อหาบางส่วน ซึ่งมักจะมีเพียงเล็กน้อย หรือต้องใช้วิทยานิพนธ์มาเป็นแนวทาง แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็จะกลายเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องที่มีคนรู้น้อยและใช้ประโยชน์กับหน่วยงานโดยตรง รวมทั้งแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้อื่นได้มาก เป็นต้น

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 9 เลือกทำสิ่งใหม่ ๆ
การทำผลงานทางวิชาการโดยเลือกทำสิ่งใหม่ ๆ หรือเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจก็จะมีความคุ้มค่า ซึ่งต้องแลกกับความยุ่งยากในการค้นคว้า เพราะเรื่องใหม่ ๆ มี แหล่งค้นคว้าได้น้อย และยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้เสมอ ต่างกับสิ่งที่ยากในหัวข้อก่อน เพราะยากอาจเป็นเรื่องเก่าหรือใหม่ก็ได้ บางเรื่องแม้จะเก่าหรือศึกษากันมานานแล้ว แต่มีผู้ศึกษาน้อย ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ก็มี แต่ถ้าเป็นสิ่งหรือเรื่องใหม่ต้องประสบปัญหาดังกล่าวเสมอ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงความน่าสนใจ คุ้มค่า และประโยชน์แล้ว ถ้าผู้ทำผลงานชอบความท้าทาย ชอบสิ่งแปลกใหม่ แม้จะเหนื่อยกว่าก็พร้อมจะสู้แล้วคงไม่เสียแรงเปล่า สิ่งใหม่ ๆ ดังกล่าว เช่น การบริหารตามหลักธรรมาภิบาล และรูปแบบการจัดการศึกษาขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งนอกจากค้นคว้าได้ยากแล้วยังต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะเสนอความคิดของผู้ทำผลงานมากด้วย

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 10 อย่ากลัวว่าสิ่งที่จะทำเป็นของแปลก
ผู้คิดจะทำผลงานทางวิชาการบางคน กลัวว่าสิ่งที่ตนคิดจะกลายเป็นการเพ้อฝันหรือเปล่า เลยไม่กล้าปรึกษาใครเดี๋ยวเขาจะหาว่าเพี้ยน ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ผลงานทางวิชาการที่ดีมีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ ความใหม่จากการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยซึ่งต้องการความรู้ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่
คำว่าความใหม่นี้ อาจใกล้ชิดกับคำว่าฝันเฟื่อง เช่นเดียวกับคำว่าดื้อกับเชื่อมั่น หรือปรับตัวกับเสแสร้ง แต่ในทางวิชาการแล้วสิ่งที่คิดสามารถทดลองได้ ถ้าเป็นการวิจัยก็เรียกว่าการวิจัยและพัฒนา ซึ่งผู้วิจัยนำสิ่งที่คิดประดิษฐ์ ขึ้นไปทดลองใช้ตามกระบวนการวิจัย เพื่อตรวจสอบว่าได้ผลเป็นอย่างไร ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร ให้รายงานผล การวิจัยไปตามนั้นต่อไป เมื่อสภาพการณ์เอื้อก็ค่อยนำมาปรับปรุงทดลองใหม่อีก
ตัวอย่างที่เคยพบจากครูสอนชั้นอนุบาล ซึ่งมักพบปัญหาเด็กเข้าใหม่จะร้องไห้นานเป็นเดือนกว่าจะปรับตัวได้ เมื่อหยุดร้องไห้แล้วก็ยังมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อนอีก และมีสมาธิสั้นอีกด้วย ครูจึงทดลองใช้วิธีการให้เด็กผลัดกันนวด ปรากฏว่าเด็กร้องไห้เพียงวันสองวันแรกเท่านั้น เมื่อผลัดกันนวดก็ทำให้สนิทสนมกัน การทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่มีหรือมีน้อยมาก และสุดท้ายเนื่องจากการนวดต้องใช้สมาธิเมื่อฝึกทักษะอื่น ๆ ก็ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่ทดลองก็ไม่มีทางรู้ผล เพราะถ้าเพียงแต่นำไปปรึกษาใครก็อาจจะเห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ คิดอะไรแปลก ๆ

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 11 รีบทำก่อนความรู้เปลี่ยน
ในยุคปัจจุบันความรู้เปลี่ยนเร็วมากในลักษณะทวีคูณ ในสมัยโบราณความรู้อาจเปลี่ยนโดยใช้เวลา 100 ปี ยุคถัดมาอาจลดลงเหลือ 10 ปี และในยุคนี้อาจเปลี่ยนภายใน 1 - 2 ปี เท่านั้น ซึ่งสังเกตได้จากกฎเกณฑ์ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ มีการปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจนแทบตามไม่ทัน ผู้ที่ไม่รู้ยังดีกว่าผู้ที่รู้ของเก่าเสียอีก เพราะจะหลงผิดยึดมั่นจนเสียหายได้
เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงเร็วมากดังกล่าว ถ้าคิดจะทำอะไรก็ต้องลงมือทำโดยเร็ว แม้ว่าต้องใช้เวลาเตรียมตัวบ้างก็ไม่ควรให้นานนัก คงไม่ถึงกับเหมือนศิลปินที่ต้องมีอารมณ์ ถึงจะผลิตผลงานได้ ดังนั้น เมื่อคิดได้แล้วปล่อยทิ้งไว้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็นำมาใช้ไม่ได้ต้องคิดใหม่ให้ปวดหัวอีก นอกจากนี้แม้ความรู้ยังไม่เปลี่ยนแต่อาจมีคนอื่นคิดทำและเสร็จก่อนก็เป็นได้

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 12 ทำเดี่ยวเหมาะกว่ากลุ่ม
การทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม ตามหลักการแล้วต้องได้ผลดีกว่าทำเดี่ยว ดังคำกล่าวที่ว่า “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” แต่สำหรับคนไทยอาจไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าทำอะไรร่วมกันมักมีปัญหาได้เสมอ แม้ปากจะพูดว่าต้องมีความสามัคคีหรือสมานฉันท์ก็ตาม ที่พบได้เสมอคือบางคู่ที่เป็นเพื่อนสนิทรักกันปานจะกลืน เมื่อร่วมลงทุนทำธุรกิจเปิดร้านอาหารด้วยกันแล้ว จะมีปัญหาถึงขั้นเลิกคบกันก็มี
ในกรณีเป็นการทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่ง มักมีลักษณะเฉพาะตัวสูงจะเหมาะสำหรับทำเดี่ยวมากกว่า เพราะถ้าทำหลายคนเป็นคณะก็ต้องระบุว่าเป็นผลงานของใคร ในสัดส่วนเท่าใด ถ้าแบ่งได้ลงตัวก็ดี ถ้าแบ่งไม่ลงตัวก็จะเกิดปัญหา หรือแม้แต่แบ่งกันลงตัวแล้ว ผู้ที่มีสัดส่วนน้อยก็นำไปขอผลงานไม่ได้ ดังนั้น ถ้าคิดจะทำผลงาน เพื่อเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่งแล้วควรทำคนเดียวดีกว่า

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 13 หาคนช่วยได้ก็ดี
จากที่กล่าวไว้ในเคล็ดลับ : เทคนิคที่ 1 ว่าต้องทำผลงานในสิ่งที่รู้เป็นหลัก โดยทำด้วยตัวเองตามลำพังได้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ค่อยว่ากัน ซึ่งถ้ามีคนช่วยได้ก็จะดี โดยอาจช่วยค้นคว้า ประสานติดต่อผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่ทำเรื่องคล้ายคลึงกัน และติดต่อหาคนพิมพ์ให้ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจช่วยอ่านเพื่อหาข้อบกพร่องและให้คำแนะนำ หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งการช่วยในที่นี้มีลักษณะเป็นการสนับสนุนให้การทำผลงานเป็นไปด้วยความ สะดวกราบรื่น ไม่ใช่ช่วยทำหรือมีส่วนร่วมในการทำผลงานเช่นหัวข้อก่อน ผู้ทำผลงานที่มีเพื่อนฝูงมากก็มีโอกาสใช้เคล็ดลับและเทคนิคข้อนี้ได้มาก

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 14 เลิกคิดจ้างทำ
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นมาก จำนวนผู้เรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 20 ปีก่อน จึงได้ยินการพูดถึงการจ้างทำวิทยานิพนธ์กันหนาหูขึ้น แม้ว่าเมื่อนักศึกษาทำเสร็จแล้วจะต้องสอบปากเปล่าด้วย แต่ผู้รับจ้างก็จะมีแนวทางติวให้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่สืบเสาะว่าอาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการสอบปากเปล่าแต่ละคนเน้นหนักหรือจะถามเรื่องอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วนำมาเป็นข้อมูลเตรียมให้ผู้ว่าจ้างจนกระทั่งสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ได้ แม้ไม่ได้ทำเองเลยก็ตาม ซึ่งเป็นการหลอกทั้งตัวเองและผู้อื่น เป็นความเสียหายที่หลายฝ่ายกำลังหาทางป้องกัน
เหตุการณ์จ้างทำดังกล่าวจะไม่เกิด ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาให้ความสนใจ และตรวจสอบผลงานของนักศึกษา อย่างต่อเนื่อง ก็พอจะรู้ได้ว่านักศึกษาทำเองหรือไม่ แต่บางครั้งอาจไม่ได้ตรวจสอบให้ละเอียด จึงเปิดโอกาสให้มีการจ้างทำขึ้น ในการทำผลงานทางวิชาการ เพื่อเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่งก็มีเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน เพราะผู้ที่ว่าจ้างคิดว่าคุ้ม ถ้าเปรียบเทียบค่าจ้างกับเงินประจำตำแหน่งที่จะได้ เข้าทำนองไม่กี่เดือนก็คุ้มทุน จากประสบการณ์เคยมีผู้ติดต่อ ว่าจ้างหลายราย เมื่อผู้เขียนไม่รับก็จะขอให้ช่วยหาคนอื่นหรือลูกศิษย์ให้ ก็เลยต้องตอบไปว่า “ลูกศิษย์ทุกคนอย่าว่าแต่จะรับจ้างคนอื่นเลย ของเขาเองก็ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า” นอกจากนี้ผู้ที่จ้างให้คนอื่นทำ แม้จะหลุดรอดสายตาของผู้ตรวจแล้ว แต่ต้องมีคนรู้และพูดจาถากถางตลอด เช่น “เป็นไงสิ้นเดือนแล้วไปรับเงินประจำตำแหน่งที่จ้างเขาทำแล้ว หรือยัง” ซึ่งที่พบมีอยู่รายหนึ่งต้องยอมลาออกเพราะทนอับอายไม่ได้ ดังนั้น จงหยุดที่จะจ้างคนอื่นทำ ถ้าจะจ้างอย่าทำเสียดีกว่า

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 15 จริงจังเหมือนดูละคร
ในชีวิตประจำวันบางคนทำสิ่งใดก็เอาจริงเอาจัง ซึ่งถ้านำมาเป็นแนวทางการทำผลงานได้ก็คงได้รับความ สำเร็จ ที่เห็นได้ทั่วไปคือการดูละครโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง บางคนดูละครอย่างเป็นระบบ ครบวงจร คือ มีการเตรียมด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ล่วงหน้า ในขณะที่กำลังดูก็แสดงความเห็นต่าง ๆ อย่างจริงจังจนบางครั้งเกือบจะไปร่วมแสดงหรือแสดงเอง เช่น ทำไมพระเอกหรือนางเอกไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเป็นเราจะไม่ยอมเด็ดขาด ฯลฯ โดยลืมคิดไปว่าผู้ประพันธ์และผู้กำกับทำตามบทที่เขียนไว้แล้ว เมื่อดูเสร็จก็มีการนำมาวิเคราะห์วิจารณ์พร้อมทั้งทำนาย คาดการณ์แนวโน้มในตอนต่อไป บางคนก็ตรวจตราทบทวน โดยซื้อหนังสือชนิดเล่มเดียวจบมาอ่านกันลืมอีกครั้งด้วย
การทำผลงานทางวิชาการก็เหมือนกับการดูละครถ้ามีการเตรียมและเอาใจใส่ระหว่างทำก็แสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ สังเคราะห์ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ตรวจสอบอย่าง จริงจัง รับประกันได้ว่าจะทำผลงานได้เสร็จและมีคุณภาพ เท่ากับว่าถ้าจะทำผลงานแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติตัวต่างจากเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด เพียงแต่นำมาปรับให้สอดคล้องกันเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ได้เปรียบเทียบกับการดูละคร ผู้ที่ไม่ดูละครก็อาจสังเกตคนอื่นหรือดูว่าตัวเองชอบทำอะไร เมื่อทำผลงานทางวิชาการก็ควรทำอย่างนั้นด้วย

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 16 ยิ่งให้ยิ่งได้
การทำผลงานทางวิชาการนอกจากการเขียนแล้ว จะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก ทั้งการพบปะ พูดคุย สอบถาม ให้คำแนะนำ หยิบยืม ขอร้อง ว่าจ้าง ฯลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะฝ่ายผู้ร้องขอหรือผู้ให้ บางคนเห็นว่าตัวเองเป็นคนเก่ง มีความรู้และปัจจัยต่าง ๆ ครบถ้วน แล้วก็ไม่อยากจะสุงสิงกับใคร เกรงว่าจะขาดทุนเพราะต้องคอยช่วยเหลือคนอื่น เช่นเดียวกับคนรวยที่กลัวว่าจะถูกยืมเงินก็คอยหลบเลี่ยงไม่ยอมพูดหรือฟังความลำบากของคนอื่น
ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือองค์ประกอบอื่น ๆ นั้น ใช่ว่าจะให้หรือรับได้หมด ถ้าคิดว่าเรามีความรู้และสิ่งอื่น ๆ อยู่ 8 เพื่อนมีแค่ 2 เมื่อแลกเปลี่ยนกันแล้วเพื่อนจะได้กำไรเพิ่มขึ้นตั้ง 8 คือ จาก 2 เป็น 10 ส่วนเราได้เพิ่มแค่ 2 จาก 8 เป็น 10 ซึ่งการให้หรือได้คงไม่เพิ่มเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ หรือการถ่ายเทน้ำระหว่างกันอย่างนั้น เราอาจได้ความรู้เพิ่มจาก 8 เป็น 9 ส่วนเพื่อนก็อาจจะได้จาก 2 เป็น 3 หรือ 4 เท่านั้น และเมื่อได้ความรู้เพิ่มขึ้นครั้งละเล็กละน้อย ความรู้เดิมที่เป็นทุนอยู่มากแล้วก็จะได้เติมเต็ม แต่ถ้าคิดปิดประตูไว้ นอกจากความรู้จะมีเท่าเดิมในขณะที่คนอื่นได้เพิ่มแล้วเราก็จะพัฒนาได้ช้า และยิ่งร้ายกว่านั้นดังกล่าวแล้วว่าความรู้เปลี่ยนเร็ว ถ้าไม่ได้มีความรู้เพิ่มและของเดิมล้าสมัยด้วยแล้วก็ยิ่งมีอุปสรรคมากขึ้น อีกทั้งเพื่อนฝูงก็จะไม่เห็นใจอีกต่างหาก
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยและประเมินโครงการ ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งถ้าบรรยายเพียง 1 - 2 วัน ก็คงยากที่ผู้เข้ารับการอบรมจะนำไปปฏิบัติได้ ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้สอบถามทางโทรศัพท์ได้ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเสียเวลา แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวิทยาทานเราอาจเสียเวลาเพียง 5 - 10 นาที แต่ช่วยคนอื่นได้เป็นเวลาหลายวัน ซึ่งเมื่อพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ใช่แต่ผู้เขียนให้ฝ่ายเดียวเท่านั้น คำถามต่าง ๆ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้เขียนถือเป็นประสบการณ์จริง แล้วยังนำไปแนะนำคนอื่น ๆ หรือผู้เข้าอบรมรุ่นต่อ ๆ ไปได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงกล้าสรุปว่ายิ่งให้ก็ยิ่งได้แน่นอน

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 17 ทุกอุปสรรคมีทางแก้
ไม่ว่าจะทำการใด ๆ ต้องมีปัญหาและอุปสรรคมากบ้างน้อยบ้างตามควรแก่เหตุ การทำผลงานทางวิชาการ ก็เช่นเดียวกันต้องมีอุปสรรคแน่นอน เนื่องจากต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน มีองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมาก และถ้าผู้ทำไม่คุ้นเคยด้วย อุปสรรคก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ทำผลงานที่พบอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่ 4 - 5 ครั้ง แล้วอุปสรรคใหญ่ ๆ สัก 1 - 2 ครั้ง ถือว่าโชคดี
อุปสรรคต่าง ๆ ต้องมีทางแก้แต่อาจต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น พยายาม ฟันฝ่าให้ได้ อุปสรรคเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการคิด การเตรียม การทำ และการตรวจสอบ ถ้าอุปสรรคอยู่เหนือความพยายามเมื่อใด ก็จะเกิดความล้มเหลว ถ้าความพยายามอยู่เหนืออุปสรรคก็จะเกิดความ สำเร็จ ดังได้กล่าวไว้ในบทที่ 1 ดังนั้นขอให้ทำใจไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าต้องมีอุปสรรคบ้างแน่นอน ตั้งแต่เริ่มคิดและตั้งชื่อเรื่องไปเรื่อย ๆ ขอเพียงหาทางแก้หรือทุเลาอุปสรรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 18 อย่าท้อแท้
เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ขึ้นดังกล่าวในหัวข้อก่อน สิ่งที่ตามมา คือ ความท้อแท้ ซึ่งห้ามไม่ได้ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ขอให้เป็นการท้อแท้ชั่วคราวแล้วค่อยตั้งหลักใหม่ให้ได้ อาจพักงานไว้สักระยะหนึ่งเปลี่ยนเป็นไปเที่ยวบ้าง ช๊อปปิ้งบ้าง แต่อย่าให้นานเกินไป เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วกลับเข้าสู่การทำผลงานปกติอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากท้อแท้ระหว่างทำเหมือนมวยระหว่างยกแล้ว ยังเกิดความท้อแท้เมื่อทำเสร็จแล้วผลออกมาว่าผลงานที่อุตส่าห์ทำแทบเป็นแทบตายไม่ผ่าน เหมือนกับมวยชกจนผ่านยกสุดท้ายและแพ้คะแนน ก็คงท้อแท้บ้างแล้วฟิตซ้อมกลับมาแก้มือใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นเพียงอดีต ลองนึกถึงรถเด็กเล่นที่แล่นไปชนอะไรแล้วหยุดชั่วครู่ ก็หันหัวไปทางอื่นแล้วแล่นต่อไปได้ไม่ยอมหยุดกับที่ ฉันใดก็ฉันนั้น







Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.

บทความทางวิชาการ5 อันดับล่าสุด

      เอกสารที่เกี่ยวข้อง : การค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการ คืออะไร 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการมีกี่ประเภท 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการที่ดีเป็นอย่างไร 11/ส.ค./2556
      ความสำเร็จ : ล้มเหลวในการทำผลงานทางวิชาการ 11/ส.ค./2556