ลักษณะของผลงานทางวิชาการที่ดี ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญตามลำดับ คือ มีความถูกต้อง ใหม่ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าองค์ประกอบแรกไม่มีแล้ว องค์ประกอบหลังก็มีไม่ได้ นั่นคือ ถ้าความรู้ที่ได้จากผลงานทางวิชาการผิดแล้ว แม้จะใหม่ก็นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย หรืออาจกลายเป็นโทษด้วย
ซึ่งในขณะเดียวกันแม้จะมีความถูกต้องแต่ไม่มีความใหม่ หรือมีความใหม่เล็กน้อยก็ใช้ประโยชน์ได้น้อยตามไปด้วย
ความถูกต้องถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ถ้าเป็นงานวิจัย เรียกว่า มีความตรงภายใน คือ ผลการวิจัย หรือความรู้จากการวิจัยถูกต้อง ถ้าเป็นการวิจัยและพัฒนาหรือวิจัยชั้นเรียนก็หมายถึงผลต่าง ๆ หรือตัวแปรตามที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวแปรต้นหรือนวัตกรรมที่คิดเท่านั้น ไม่มีเหตุอื่นมาปะปน หรือไม่มีตัวแปรเกินตัวแปรแทรกเลย คล้ายกับคำพูดที่ว่า “ฉันเป็นอย่างนี้ เพราะคุณคนเดียว”
องค์ประกอบประการต่อมา คือ ความใหม่ นั่นคือผู้ทำผลงานควรแสดงถึงความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ด้วยการสังเคราะห์ เสนอความรู้ หรือสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมหรือวิธีการที่ทันสมัย เพิ่มความก้าวหน้าหรือต่อยอดความรู้เดิม ถ้าเป็นงานวิจัยก็ต้องคิดนวัตกรรมขึ้น หรืออย่างน้อยก็นำ มาปรับ ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะกลุ่มตัวอย่าง ถ้าไม่มีความใหม่ความรู้ก็จะอยู่กับที่ไม่พัฒนา เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “เหล้าเก่าในขวดใหม่”
สุดท้ายคือ การนำความรู้จากผลงานทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความถูกต้องหรือความใหม่ ถ้าเป็นงานวิจัยจะเรียกว่ามีความตรงภายนอก คือนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้อีกด้วย ยิ่งใช้ได้กว้างขวางเท่าไรก็ยิ่งดีมีความคุ้มค่า งานวิจัยที่ไม่ได้นำไปใช้จะเรียกกันว่า “ขึ้นหิ้ง” หรือ “เสียของ” คือเหมือน “เท่ห์แต่กินไม่ได้” นั่นเอง
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ถ้าจะให้ผลงานวิชาการที่อุตส่าห์ทำขึ้นมีคุณภาพ สมดังความตั้งใจก็ควรทำตามหลักวิชา เพื่อให้ได้ทั้งความรู้ที่ถูกต้อง ใหม่ และทันสมัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปัจจุบันถ้าเป็นการทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา จะให้ค่าน้ำหนัก คะแนนของผลงานทางวิชาการเท่ากัน ระหว่างความถูกต้อง และความใหม่ กับการนำไปใช้ประโยชน์ คือ ร้อยละ 50