ผลงานทางวิชาการ คืออะไร
ผลงานทางวิชาการได้รับการกล่าวถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำผลงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่ต้องทำประกอบหลักสูตรการเรียนการสอน การจะทำผลงานสักครั้งดูเหมือนเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะได้ฟังคำเล่าลือมาเสมอว่าเป็นเรื่องยาก
ต้องใช้ความรู้ ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด โดยไม่มั่นใจว่าจะทำเสร็จหรือไม่ หรือเสร็จทันตามเวลาที่กำหนดหรือเปล่า แม้แต่เสร็จแล้ว ส่งแล้วจะผ่านเกณฑ์หรือต้องปรับแก้อย่างไร ทำให้เป็นกังวลตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำจนกระทั่งเสร็จ และระหว่างรอผลการตรวจ
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นมีส่วนจริงอยู่บ้าง คือ การทำผลงานทางวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำเสร็จได้ในเร็ววัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก จนเกินกว่าที่ปุถุชนคนธรรมดาจะทำได้ ถ้ามีความตั้งใจพยายามและอดทนแล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง ซึ่งในปัจจุบันมีแหล่งค้นคว้า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากขึ้น ถือว่ามีโอกาสดีกว่ารุ่นก่อน ๆ ยิ่งผู้ที่ต้องส่งผลงานเพียง 1 รายการ ยิ่งเห็นแสงเรือง ๆ ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ
สำหรับในที่นี้ จะไม่มุ่งเน้นสาระที่เป็นวิชาการโดยตรง แต่จะกล่าวถึงเคล็ดลับเทคนิคต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำผลงานทางวิชาการได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษามาก่อน ยังขาดประสบการณ์ตรงก็คงจะเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร ซึ่งก่อนจะกล่าวถึงเคล็ดลับเทคนิคต่าง ๆ ในตอนต่อ ๆ ไป เพื่อให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยรู้จักกับผลงานทางวิชาการได้ดีขึ้น ดังนั้น ในบทนี้จึงนำเสนอสาระพื้นฐานเกี่ยวกับความหมาย ประเภท ลักษณะผลงานทางวิชาการที่ดี ขั้นตอนการทำผลงาน และความสำเร็จ : ความล้มเหลวในการทำผลงานทางวิชาการโดยสรุป ดังนี้
คำว่า วิชาการ มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546 : 1,073) ว่าเป็นวิชาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา ผู้อ่านอาจจะเห็นว่าเริ่มบรรทัดแรกก็น่ากลัวเสียแล้ว จะกล่าวถึงอะไรก็ต้องอ้างอิง แล้วต่อไปมิต้องอ้างอิงกันตลอดหรือ เพื่อให้สมภูมิของนักวิชาการจะได้ดูขลังหน่อย
การอ้างอิง ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติของการเขียนผลงานทางวิชาการ แต่ไม่ใช่อ้างอิงกันตลอด เพียงแต่มีการอ้างอิงบ้างตามความจำเป็น เพื่อให้น่าเชื่อถือ ประกันว่าไม่ใช่กล่าวกันลอยๆ คล้ายๆ กับการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์กันในศาลนั่นเอง นอกจากนี้ผู้อ่านผลงานทางวิชาการของเราจะได้รู้ความเป็นมา พัฒนาการของสิ่งที่เราศึกษา เพื่อให้สามารถค้นคว้าต่อไปได้ และยังแสดงถึงจริยธรรมของเราด้วยว่าไม่ได้คัดลอกข้อความใครมาโดยพลการ
ถ้ามีคำถามว่าไม่อ้างอิงเลยจะได้ไหม ซึ่งก็อาจจะได้ ถ้าผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับได้รับรางวัลโนเบล โดยพัฒนา ผลงานของตนเองมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนเสร็จ ถ้าอย่างนั้นอ้างอิงน้อย ๆ ได้ไหม ก็อาจได้เช่นกันถ้าผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ ที่ได้รับการยอมรับแล้ว ถ้าอย่างนั้น คนทั่ว ๆ ไปจะอ้างอิงน้อยบ้างได้ในกรณีใด อาจจะได้ถ้าเรื่องที่ทำยังเป็นเรื่องใหม่มีผู้ศึกษาไว้น้อย
การทำผลงานทางวิชาการจะต้องเขียน แม้จะเน้นการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ต้องเขียนแสดงรายละเอียด และผลการทดลองใช้เสมอ บางครั้งเป็นการเขียนซ้อนเขียน คือสิ่งที่ผลิตก็เป็นการเขียนแล้วยังต้องเขียนผลการใช้อีกด้วย ซึ่งจากความหมายของคำว่า “วิชาการ” ข้างต้นแสดงว่า การทำผลงานทางวิชาการต้องผลิต และ/หรือเขียนความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา การจะเขียนได้ดีก็ต้องผ่านการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้ง เขียนในลักษณะเรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยมีความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้
การเรียบเรียง เป็นการนำข้อความของบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ มาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ตามหัวข้อ โดยอาจมีการปรับภาษา และใช้คำเชื่อมโยงให้มีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนการสรุปจะนำเนื้อหาที่เรียบเรียงมาสรุปอีกครั้งโดยใช้ภาษาของตัวเอง การวิเคราะห์เป็นการแสดงความเห็น วิพากษ์ วิจารณ์เนื้อหาที่เรียบเรียง เช่น ข้อความ 1 กับ 2 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ในประเด็นใดบ้าง หรือมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร เป็นต้น สุดท้ายคือการสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการเสนอความคิดใหม่จากฐานข้อมูลเดิม เช่น นำข้อความ 1 กับ 2 มารวมกันกลายเป็น 3 โดยที่อาจเหมือน 1 บ้าง เหมือน 2 บ้าง และไม่เหมือนทั้ง 1 และ 2 บ้าง ส่วนที่ไม่เหมือนถือเป็นการสังเคราะห์ เช่นเดียวกับม้าผสมกับลากลายเป็นฬ่อ หรือแต่งงานแล้วมีลูกถือว่าเป็นการสังเคราะห์ โดยมีส่วนเหมือนพ่อแม่บ้าง หรือไม่เหมือนบ้าง เพียงแต่การทำผลงานทางวิชาการยิ่งสังเคราะห์มากก็ยิ่งดี การทำผลงานในระดับสูง ๆ คือ ระดับศาสตราจารย์อาจต้อง สังเคราะห์ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดจึงจะดี ส่วนลูกนั้นถ้าสังเคราะห์มากเกินอาจเกิดข้อสงสัยได้
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ผลงานทางวิชาการเป็นการผลิตหรือเขียน จากการศึกษาค้นคว้าสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งหรือหลายสาขาอย่างครอบคลุม ลึกซึ้ง ด้วย
การสรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ได้ของใหม่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง