PITSANU.NET : การจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการ, ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ

head images blog

การแบ่งประเภทของผลงานทางวิชาการ อาจมีจำนวนประเภทต่างกันไปตามที่หน่วยงานกำหนดขึ้น บางหน่วยงานก็กำหนดไว้หลายประเภท เช่น เอกสารประกอบ การสอน ตำรา หนังสือ งานวิจัย งานประเมิน งานแปล และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งบางประเภทมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ดังนั้น ในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

ประเภทที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เช่น งานวิจัยเชิงสำรวจ งานวิจัยและพัฒนา และงานวิจัยชั้นเรียน เป็นต้น ประเภทที่มีลักษณะเป็นงานประเมิน เช่น งานประเมินโครงการ งานประเมินหลักสูตร และงานประเมินองค์การ เป็นต้น ซึ่งบางหน่วยงานก็อาจจัดงานประเมินเป็นงานวิจัยประเภทหนึ่ง เรียกว่า งานวิจัยประเมินผล ประเภทที่มีลักษณะเป็นหนังสือ เช่น หนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอน เอกสารงานแปล และบทความ เป็นต้น ประเภทสุดท้าย คือ งานประดิษฐ์ เช่น นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น

     ผลงานทางวิชาการแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันบ้าง โดยสรุปคือ งานวิจัยจะเริ่มได้ช้าคือหาเรื่องหรือหัวข้อที่จะทำวิจัยได้ยาก จึงมักได้ยินคำกล่าวจากผู้ที่ต้องทำวิจัย โดยเฉพาะนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อยู่เสมอว่า “ได้หัวข้อวิจัยแล้วหรือยัง” ผู้ที่มีหัวข้อแล้วก็ตอบด้วยความภาคภูมิใจ ผู้ที่ยังไม่มีก็ไม่อยากจะพูดถึง แม้ว่าจะได้หัวข้อแล้วก็ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีปัญหาอื่น ๆ ได้อีกเสมอ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา หรือการวิจัยชั้นเรียนที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมขึ้น โดยอาจเป็นวัตถุหรือเทคนิคกระบวนการต่าง ๆ แต่ก็พออุ่นใจได้บ้าง พูดง่าย ๆ ก็คือถ้ายังไม่มีหัวข้อวิจัยก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ต้องเครียดต่อไป หรือถ้าไม่ถูกบังคับด้วยเหตุต่าง ๆ ก็อาจตัดไฟแต่ต้นลม คือ ไม่ทำเสียเลย แต่ถ้าได้หัวข้อที่ชัดเจนแล้ว การทำในขั้นต่อ ๆ ไปจะมีกรอบหรือระเบียบวิธีวิจัยกำหนดไว้ ไม่ยากเท่ากับการเริ่มต้น เข้าทำนองเป็นม้าตีนปลาย เพียงแต่ว่าเมื่อทำเสร็จแล้ว ถ้าจะทำใหม่ก็ต้องหาเรื่องหรือหัวข้อใหม่อีกทุกครั้ง

     ส่วนงานประเมินจะแตกต่างกับงานวิจัย คือ เริ่มได้เร็วมาก นั่นคือ ถ้ามีสิ่งที่จะประเมินไม่ว่าจะเป็นโครงการ หลักสูตร ฯลฯ ก็มีเรื่องที่จะประเมินทันที ยิ่งใช้รูปแบบการประเมินซึ่งเปรียบเสมือนตัวช่วยด้วยแล้วก็ยิ่งเร็ว แต่จะช้าตอนปลายโดยเฉพาะตอนคิดตัวชี้วัดและเกณฑ์ บางครั้งอาจต้องล้มเลิกกลางคัน เนื่องจากระเบียบวิธีประเมินยังไม่ชัดเท่าการวิจัย เข้าทำนองเป็นม้าตีนต้น อย่างไรก็ตามงานประเมินมีจุดเด่นอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ ทำเป็นแล้วเป็นเลย เหมือนกับหัดขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ นั่นคือทำซ้ำโครงการเดิมก็ได้ ประการที่สองคือ ยังมีผู้ทำน้อยกว่าวิจัยมาก หรือพูดง่าย ๆ คือ แทบไม่มีคู่แข่งนั่นเอง
ถ้าจะเปรียบเทียบ ประเภทของผลงานทางวิชาการ ระหว่างงานวิจัยกับงานประเมินแล้ว ลองนึกถึงว่ามีคน 2 คน อยู่ที่ชายหาดจะเดินทางไปเกาะ คนชื่อประเมินเห็นเกาะที่จะไปทันที ลงเรือไปได้เลย เพียงแต่เมื่อถึงกลางทะเลคลื่นลมแรง ไม่รู้ว่าจะไปถึงหรือเปล่าต้องพยายามเพิ่มขึ้น ถ้าเรือไม่ล่มเสียก่อน ไปถึงแล้วคราวหลังจะรู้ร่องน้ำไปเกาะเดิมได้อีกโดยง่าย ในขณะที่คนชื่อวิจัยต้องใช้กล้องส่องทางไกลเพื่อหาเกาะที่จะไปเสียก่อน กว่าจะพบก็ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อพบแล้วส่วนใหญ่จะเดินทางโดยไม่ลำบาก ถึงเกาะได้ปลอดภัย เพียงแต่ถ้าจะไปอีกต้องหาเกาะใหม่ทุกครั้ง ห้ามไปเกาะเดิมหรือเกาะที่คนเคยไปแล้วก็ไม่ได้ นั่นคือวิจัยห้ามทำเรื่องซ้ำนั่นเอง

     สำหรับงานวิชาการประเภทหนังสือ จะอยู่กลางๆ คือไปเรื่อย ๆ เริ่มได้ไม่ช้าเหมือนงานวิจัย แต่ก็ไม่เร็วเหมือนงานประเมินคือไปเรื่อย ๆ ที่ยากคือต้องให้มีความใหม่หรือเนื้อหาใหม่บ้าง และบางครั้งนอกจากจะทำผลงานประเภทเขียนหนังสือหรือตำราแล้ว อาจต้องทดลองใช้และรายงานผลในลักษณะงานวิจัยด้วยก็มี เพียงแต่ความเข้มข้นของเนื้อหาอาจจะน้อยกว่าการทำผลงานทางวิชาการ ประเภทที่เป็นหนังสือเฉพาะ จัดให้เป็นนวัตกรรมในงานวิจัย ซึ่งจะกล่าวต่อไป

     ผลงานวิชาการประเภทสุดท้าย คือ นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องนำไปทดลองใช้และรายงานผลการทดลอง โดยอาจเป็นรายงานการใช้นวัตกรรมหรือเป็นลักษณะรายงานการวิจัยดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นวิจัยชั้นเรียนหรือวิจัยและพัฒนาในทางการศึกษา นวัตกรรมที่คิดขึ้นบางชนิด อาจมีลักษณะใกล้เคียงกับผลงานทางวิชาการประเภทหนังสือ แต่อาจทำโดยมีเนื้อหาเพียงบางส่วนของรายวิชาแทนที่จะทำครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด หรืออาจมีลักษณะที่ต่างจากประเภทหนังสือ คือ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ใช่ เอกสาร เช่น หุ่นยนต์ หรือของเล่นต่าง ๆ เป็นต้น

     จากที่กล่าวมา เกี่ยวกับประเภทของผลงานทางวิชาการ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ งานวิจัยซึ่งเริ่มได้ช้าแต่เร็วปลาย งานประเมินเริ่มได้เร็วช้าปลายแต่ทำซ้ำได้ หนังสือจะอยู่กึ่งกลางระหว่างงานวิจัยและประเมิน ส่วนนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ต้องมีการทดลองใช้ และอาจต้องรายงานในลักษณะงานวิจัยหรือไม่ก็ได้