[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by ATOMYMAXSITE 2.5
เว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้เรื่องวิจัย ประเมินโครงการ และผลงานทางวิชาการ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

ยินดีต้อนรับคุณ บุคคลทั่วไป  
Your IP 3.236.207.90   
English Chinese (Simplified) Chinese (Traditional) French German Italian Japanese Korean Portuguese Russian Spanish Vietnamese Thai     
ค้นหา   
เมนูหลัก
หลักสูตรฝึกอบรม
เว็บลิงค์น่าสนใจ
สถิติผู้เยี่ยมชม

 เริ่มนับ 11/ส.ค./2556
ผู้ใช้งานขณะนี้  IP
ขณะนี้
คน
สถิติวันนี้
คน
สถิติเมื่อวานนี้ี้
คน
สถิติเดือนนี้
คน
สถิติปีนี้
คน
สถิติทั้งหมด
คน
IP ของท่านคือ 3.236.207.90
(Show/hide IP)
ระบบสมาชิก
Username :
Password :
[ สมัครสมาชิก ] | [ ลืมรหัสผ่าน ]
สมาชิกทั้งหมด 311 คน
สมาชิกที่กำลังออนไลน์ 0 คน

  

  หมวดหมู่ : บทความทางวิชาการ
เรื่อง : เอกสารที่เกี่ยวข้อง : การค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์
โดย : admin
เข้าชม : 6298
อาทิตย์ ที่ 11 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2556 ปักหมุดและแบ่งปัน
     

เอกสารที่เกี่ยวข้อง : การค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์
     การทำผลงานทางวิชาการทุกประเภทต้องมีการศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ทำการค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และอาจสังเคราะห์ด้วยก็ได้ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงสาระโดยสรุปของแต่ละหัวข้อ ดังนี้

การค้นคว้า
หลังจากที่ได้มีการกำหนดกรอบแนวคิดหรือเนื้อหาตามหัวข้อต่าง ๆ ที่จะทำผลงานแล้ว ก็ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะอาจมีการค้นคว้ามาบ้างแล้วก่อนที่จะกำหนดกรอบแนวคิด เมื่อได้ค้นคว้าเพิ่มเติมแล้วก็อาจมีการปรับกรอบแนวคิดได้ตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ สำหรับหลักในการค้นคว้าที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

1. ค้นคว้าให้เพียงพอ เนื้อหาสาระของเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเปรียบเสมือนกับอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย หากมีไม่เพียงพอก็จะรู้สึกอ่อนเพลียไปทุกส่วนของอวัยวะต่าง ๆ เช่นเดียวกับเนื้อหาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หากมีน้อยก็จะทำให้โครงสร้างในบทอื่น ๆ ของผลงานไม่หนักแน่น ขาดครอบคลุมไปด้วย หรืออาจเปรียบได้กับวัสดุที่จะมาทำชิ้นงาน หากมีจำกัดก็ยากจะผลิตชิ้นงานได้ดี จึงจำเป็นต้องค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ ให้เพียงพอ
ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่าย จึงควรค้นและคว้าให้มากที่สุด แม้ว่าจะเสียเวลาไปบ้างเล็กน้อยก็ยังดีกว่าเอกสารขาด ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลาค้นเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าแล้ว ยังทำให้การทำผลงานต้องชะงักไประยะหนึ่งอีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ค้นมากเหนื่อยน้อยค้นน้อยเหนื่อยมาก
นอกจากจะค้นคว้าเอกสารภาษาไทยแล้ว ไม่ควรละเลยเอกสารภาษาต่างประเทศด้วย เนื่องจากศาสตร์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการแปล แต่ก็อาจแก้ไขได้โดยให้ผู้ที่มีความรู้ช่วย หรือหากมีข้อจำกัดมากจริง ๆ ก็จำเป็นต้องใช้การอ้างอิงต่อจากแหล่งที่มีผู้แปลไว้แล้ว โดยควรพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือด้วย

2. เลือกเอกสารที่น่าเชื่อถือ การค้นคว้าเอกสารให้เพียงพอ เป็นเรื่องในเชิงปริมาณเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงในเชิงคุณภาพแล้วก็ต้องได้เอกสารที่มีคุณค่าด้วย โดยพิจารณาจากแหล่งเอกสารที่น่าเชื่อถือ เช่น วารสารทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก หรืองานวิจัยของบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และหนังสือ ตำราที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
แหล่งเอกสารบางแหล่งอาจมีความน่าเชื่อถือน้อย เช่น จาก Website ต่างๆ หนังสือพิมพ์ งานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่ไม่เน้นเรื่องมาตรฐาน เป็นต้น หากเห็นว่าจำเป็นก็ควรพิจารณาประเมินถึงความน่าเชื่อถือด้วย เพราะอาจขาดการตรวจสอบอย่างจริงจัง หรือจาก Website บางแห่งอาจไม่มีการตรวจสอบเลย เปรียบเสมือนตลาดนัดที่ใครจะนำอะไรมาเสนอขายก็ได้

3. เลือกเอกสารใหม่ ในปัจจุบันความรู้หรือศาสตร์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นผลงาน “ตกยุค” หรือ “ย้อนยุค” ก็ควรเลือกเอกสารที่ใหม่ไม่เกิน 5 ปี หรือ10 ปี ย้อนหลัง ยกเว้นเป็นเอกสาร Classic ที่ได้รับความเชื่อถือและยังนิยมกันเท่านั้น โดยควรระบุเหตุผลที่ยังคงใช้เอกสารเก่าดังกล่าวด้วย
จากประสบการณ์ที่ผ่านมามักพบว่า ผู้ทำผลงานไม่สมารถค้นคว้าเอกสารใหม่ ๆ ได้ โดยบอกว่าไม่มี ซึ่งน่าจะเกิดจากยังไม่ได้ค้นหรือค้นคว้าไม่ครอบคลุม โดยยึดเอกสารของคนหนึ่งคนใดเป็นหลัก และใช้เนื้อหาจากเล่มนั้น ๆ เป็นแนว ซึ่งเนื้อหาในเอกสารก็ต้องเก่ากว่าปีที่ทำ หากบางเล่มใช้เอกสารเก่ากว่าปีที่ทำมากก็ทำให้ผู้ใช้ยิ่งได้เอกสารเก่ามากไปด้วย

4. อย่าเน้นความประหยัดมากเกินไป หลักการข้อนี้ก็คือ อย่าตระหนี่เกินไป เพราะหากเอกสารบางชนิดสามารถถ่ายเอกสารได้ก็ควรถ่ายทั้งเล่ม หรือให้พอกับความต้องการที่จะใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในข้อ 1 ที่ว่าค้นคว้าให้เพียงพอ บางรายประหยัดโดยใช้การจดหรือถ่ายรูปหน้าที่ต้องการ ด้วยความรีบจึงมักลืมเนื้อหาที่จะใช้อ้างอิงหรือบรรณานุกรม ทำให้เกิดเรื่อง “เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย” ขึ้น เนื่องจากหากยังต้องการใช้ก็ต้องกลับไปค้นคว้าใหม่ บางรายเน้นการยืมคนอื่นหรือหุ้นกันซื้อแล้วผลัดกันอ่าน เข้าทำนอง “โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” (ให้เสียเวลา) ซึ่งเมื่อคิดเวลาที่ต้องส่งกลับไปมาระหว่างกันแล้วอาจแพงกว่าที่ซื้อเสียอีก

การรวบรวม

เมื่อค้นคว้าเอกสารที่น่าเชื่อถือได้อย่างเพียงพอแล้วก็ต้องทำการรวบรวม หรืออาจเรียกว่า คัดเลือก ตามหัวข้อที่กำหนดไว้ก็ได้ การคัดเลือกอาจเหลื่อมกับการค้นคว้าได้ หากเป็นนิสิตนักศึกษาที่มีเวลาเพียงพอและอยู่ใกล้กับแหล่งค้นคว้าก็สามารถคัดเลือกได้ในระหว่างกำลังค้นคว้า แต่หากเป็นผู้ทำผลงานทางวิชาการที่อยู่ไกล ๆ อาจไม่มีเวลาคัดเลือกมากนักก็ต้องซื้อหรือสั่งถ่ายไว้ก่อน
เมื่อได้เอกสารที่คัดเลือกไว้แล้ว ก็พิจารณาหัวข้อหลักที่กำหนดไว้อีกครั้งว่าควรเพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยนอย่างไรคร่าว ๆ บ้างในเบื้องต้น หลังจากนั้นอาจมีการปรับ เปลี่ยน เพิ่ม ลด ยุบรวม หรือแยกหัวข้อได้อีกครั้งในการเรียบเรียงเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
คำว่า เอกสารที่เกี่ยวข้องนั้น อาจเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเกี่ยวข้องบ้างก็ได้ หากเรื่องที่ทำเป็นเรื่องใหม่ ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงน้อยก็จำเป็นต้องใช้ที่เกี่ยวข้องบ้างแทน โดยต้องเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเรื่องที่ทำด้วยการใช้หลักเหตุผล หลักอุปมาอุปไมย หรือการอนุมานเข้าช่วย
นอกจากเกี่ยวข้องในเนื้อหาแล้วยังเกี่ยวข้องในเรื่องวิธีการต่างๆ ได้อีกด้วย เช่นการสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง และการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับผลงานที่ทำได้ตลอดทั้งเล่ม มิใช่เฉพาะบทที่ 2 เท่านั้น
การรวบรวมในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การนำเนื้อหาที่ค้นคว้ามาได้ใส่ไว้ในผลงานของตน แล้วอาจมีการสรุปบ้างเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะทำให้ผลงานไม่มีความสอดคล้อง ขาดความเชื่อมโยง และอ่านไม่ราบรื่นได้ ดังที่มักได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ไม่ใช่เขียนเพียงแต่รวบรวมเท่านั้น” ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องนำเนื้อหาต่าง ๆ มาเขียนใหม่ด้วยภาษาของตนเอง ที่เรียกว่าการเรียบเรียง ซึ่งจะกล่าวต่อไป

การเรียบเรียง

ดังกล่าวแล้วว่า การเรียบเรียงคือการนำเนื้อหาที่รวบรวมไว้มาเขียนใหม่ด้วยภาษาของตนเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ผลงานมีความสอดคล้อง เชื่อมโยงกัน และอ่านได้ราบรื่นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ทำผลงานเกิดความเข้าใจในเนื้อหาและเอื้อต่อการสรุป วิเคราะห์ และอาจสังเคราะห์ได้อีกด้วย เพราะการจะเรียบเรียงต้องผ่านการอ่าน กระบวนความคิดต่าง ๆ ก่อน ถือเป็นการศึกษาไปในตัวอีกด้วย
ในการเรียบเรียงนั้นควรพิจารณาถึงปริมาณเนื้อหาของแต่ละหัวข้อให้ใกล้เคียงกัน หากเกิดปัญหาเนื้อหาที่ค้นคว้ามาได้แตกต่างกันก็ต้องค้นคว้าเพิ่มหรือสรุปให้ใกล้เคียงกัน กรณีที่เนื้อหาที่ค้นมาได้มีหัวข้อที่ไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องปรับชื่อหัวข้อให้สอดคล้องกัน หรือหากไม่มีหัวข้อก็อาจต้องตั้งเป็นหัวข้อใหม่
ภาษาที่ใช้ในการเรียบเรียงควรเป็นภาษาของตนเองตามความพึงพอใจ ยกเว้นศัพท์เฉพาะทางวิชาการในสาขานั้น ๆ หากทำอย่างนี้เมื่อมีผู้อื่นอ่านมักจะกล่าวคำว่า “เขียนเองจากความเข้าใจ หรือเขียนเองจากประสบการณ์” ดีกว่าที่จะได้ยินคำว่า “ใช้ภาษาสละสลวยดีแต่ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือเปล่า
ในปัจจุบันมักจะพบว่า นิสิต นักศึกษา หรือผู้ทำผลงานบางคนใช้วิธีการที่เรียกว่า ตัดแปะ หรือก๊อปปี้ไฟล์กันเลยทีเดียว ส่งผลให้งานที่ทำขาดความสอดคล้องกัน และที่สำคัญคือ ผู้ทำจะขาดความเข้าใจเพราะไม่ได้ศึกษาเนื้อหาอย่างจริงจัง ส่งผลให้การสรุป วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ทำได้ยากหรือไม่ได้เลย

การสรุป
หลังจากมีการค้นคว้า รวบรวมหรือคัดเลือกเอกสารและเรียบเรียงขึ้นใหม่แล้ว ก็จำเป็นต้องสรุปเนื้อหาของแต่ละหัวข้อทั้งหัวข้อรอง หัวข้อหลัก และเนื้อหาทั้งหมดของบทที่ 2 เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบถึงความเหมือน ความต่าง ความกว้าง ความแคบของเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้เรียบเรียงไว้
นอกจากสรุปเนื้อหาที่เรียบเรียงแล้ว ก็ควรพยายามโยงเข้าสู่เรื่องของตนเอง หากเป็นเนื้อหาทั่วๆไปที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็อาจสรุปและเชื่อมโยงเข้าเรื่องได้เลย แต่หากเป็นเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็อาจต้องใช้หลักเหตุผลหรืออนุมานให้เชื่อมโยงกับเรื่องที่ทำ โดยอาจอาศัยการวิเคราะห์เข้าช่วยก็ได้

การวิเคราะห์
การวิเคราะห์เป็นการศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงเอกสารที่ได้ค้นคว้า รวบรวม และเรียบเรียงมา โดยอาจมีการแยกออกเป็นส่วน ๆ เช่น หากเป็นความหมายหรือนิยามต่าง ๆ เมื่อเรียบเรียงจากหลาย ๆ แหล่งก็อาจมีการตีความ ขยายความจากคำหรือเนื้อหาของความหมายนั้น ๆ เพื่อแสดงความเห็นและเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องที่ทำ
หากพิจารณาถึงลักษณะของการวิเคราะห์ในเบื้องต้นหรือขั้นตอนแรกแล้ว อาจใช้คำที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ศึกษาอย่างละเอียดจนรู้จริง” ในเรื่องนั้น ๆ เสียก่อน แล้วต้องใช้กระบวน การคิดจึงจะวิเคราะห์ได้ดี ซึ่งอาจเป็นปัญหาบ้าง เนื่องจากทักษะการคิดวิเคราะห์ของคนไทยยังด้อยอยู่ แต่ก็แก้ไขได้ไม่ยาก โดยอาศัยความพยายามและความตั้งใจเมื่อทำได้ต่อไปก็กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ

การสังเคราะห์
การสังเคราะห์ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะต้องแสดงความคิดใหม่เพิ่มเติมจากเรื่องที่ทำ ซึ่งผลงานวิชาการบางประเภท เช่น งานวิจัยชั้นเรียน หรือวิจัยและพัฒนานั้นจะต้องมีการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมขึ้น โดยต้องมีความใหม่หรือต่างจากของเดิมในทางที่คาดว่าน่าจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทหรือเรื่องที่จะทำอย่างไร ซึ่งการจะสังเคราะห์ให้ดีได้จะต้องผ่านการสรุปและวิเคราะห์มาก่อน
สำหรับผลงานทางวิชาการที่ไม่ต้องมีนวัตกรรมโดยตรง ก็อาจมีการสังเคราะห์ในประเด็นอื่น ๆ เช่น การสังเคราะห์ตัวแปร ตัวชี้วัด ขั้นตอน กระบวนการ และวิธีการต่าง ๆ เป็นต้น โดยบางครั้งเพื่อให้สังเคราะห์ได้ง่ายขึ้น และป้องกันไม่ให้ลืม ก็อาจทำเป็นตาราง Matrix ก่อน แล้วนำข้อมูลที่ศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ มาใส่ตารางก็จะทำให้เห็นภาพโดยรวมอย่างชัดเจน และกำหนดสิ่งที่ต้องการได้อย่างเป็นระบบ





Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.

บทความทางวิชาการ5 อันดับล่าสุด

      เอกสารที่เกี่ยวข้อง : การค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการ คืออะไร 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการมีกี่ประเภท 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการที่ดีเป็นอย่างไร 11/ส.ค./2556
      ความสำเร็จ : ล้มเหลวในการทำผลงานทางวิชาการ 11/ส.ค./2556