PITSANU.NET : การจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการ, ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ

head images blog

     การทำผลงานทางวิชาการ จะสำเร็จเพียงใดหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับขั้นตอนทั้ง 4 ขั้น ดังกล่าวแล้ว ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามตามหลักวิชาการ อดทน พร้อมทั้งใช้เคล็ดลับเทคนิคต่าง ๆ จนชนะอุปสรรคที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ

ทำผลงานเสร็จพร้อมจะส่งหรือเสนอตามขั้นตอน ส่วนเรื่องผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ค่อยว่ากัน  เปรียบเสมือนนักมวยที่หมั่นฝึกซ้อมจนพร้อมจะขึ้นชกได้ จะแพ้หรือชนะก็ต้องลองดู แต่ถ้าท้อแท้ต่ออุปสรรคทั้งปวงจนหยุดคิดหรือทำผลงานไม่เสร็จก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับปริญญา หรือเลื่อนตำแหน่ง ถ้าเป็นนักมวยก็ไม่ได้ขึ้นชก อย่างดีก็เป็นเพียงกองเชียร์ยืนตีเข่าอยู่ข้างเวที
     ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขึ้นอยู่กับว่า ระดับของความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายาม และอดทนมีมากกว่าอุปสรรคหรือไม่ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ ตัดสินใจที่จะทำต่อมาคือ เตรียมวางแผน ลงมือทำ และตรวจสอบผลงาน อาจเรียกสั้น ๆ ว่า “คิด เตรียม ทำ ตรวจ” บางรายเพียงเริ่มคิดก็ยอมแพ้ เข้าทำนอง “ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า” บางรายรีบเกินไป ทำข้ามขั้น คือ คิดแล้วไม่ได้เตรียมลงมือทำเลย โอกาสพลาดก็มีมาก บางรายเมื่อลงมือทำแต่จะพบอุปสรรคมากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ รู้สึกเหนื่อย เครียดก็หยุดในขั้นตอนนี้ สุดท้ายบางรายอุตส่าห์ทำจนเสร็จแล้ว แต่เมื่อได้รับคำติติงผลงานจากคนอื่นก็ท้อแท้ หมดกำลังใจ เก็บผลงานไว้ไม่กล้าส่ง ทำให้เหนื่อยไม่คุ้มกับการอดตาหลับขับตานอนมาเป็นเวลานาน อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการทำผลงานทางวิชาการ เป็นการดึงกันระหว่างความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายาม อดทน กับการใช้เคล็ดลับต่าง ๆ และเทคนิค กับอุปสรรคต่าง ๆ ว่าฝ่ายใดจะเหนือกว่า และเป็นผู้ชนะในที่สุด
     อุปสรรคตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มคิด คือ บางคนหาเรื่องหรือสิ่งที่จะทำไม่ได้ หรือหาได้แล้วขาดความมั่นใจ ถามคนโน้นก็ว่าไปทาง ถามคนนี้ก็ว่าไปอีกทาง ไปเข้าร่วมอบรมก็ยังคลุมเครือ วิทยากรที่มาแต่ละครั้งก็คนละแนว แม้แต่วิทยากรที่มาครั้งเดียวกันแต่บรรยายคนละเวลาก็ไม่เหมือนกัน ที่ทำให้งงมากที่สุด คือ วิทยากรที่บรรยายเป็นคณะในเวลาเดียวกันก็ยังมีการถกเถียงกัน
ต่อมาเป็นขั้นตอนการเตรียมอาจกำหนดโครงสร้างหรือกรอบไม่ค่อยได้ บางคนไปถามก็ได้ผลเช่นเดียวกับข้างต้น ลองติดต่อผู้รู้ให้ช่วยแนะนำก็ติดต่อยาก อีกครึ่งเดือน กว่าจะว่างให้พบได้ ลองให้เพื่อนทาบทามผู้รู้ท่านอื่นก็ไม่ค่อยว่างเหมือนกัน คิดว่าข้ามไปลงมือทำก่อนน่าจะดีกว่า ยังไงก็ค่อยว่ากันทีหลัง
     เมื่อเห็นว่ายุ่งยากนักเลยทำไปพลาง ๆ ก่อนทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจ คาดว่าคืนนี้เขียนล่วงหน้าเป็นการประเดิมก่อนเริ่มลงมือเขียนก็ไม่ค่อยคุ้นเคย ตั้งแต่เรียนจบมา 20 กว่าปีแล้ว แทบไม่ได้เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กลายเป็นของแปลกเหมือนกับเห็นรูปถ่ายตัวเองสมัยวัยรุ่น อุตส่าห์เขียนตั้งแต่ละครจบจนเกือบเที่ยงคืนได้เพียงครึ่งหน้า อ่านเองแล้วก็งง ๆ เลยลบออกเสียบ้าง ดีว่าเตรียมน้ำยาลบหมึกไว้แล้ว พอลบออกยังดีที่เหลือ 3 - 4 บรรทัด จะเขียนอีกก็ง่วงมากแล้ว พรุ่งนี้มีเวรรับเด็กแต่เช้า ชักท้อแท้เลยดูหัวข้อที่ต้องเขียนทั้งหมดว่าหัวข้อไหนง่ายพอจะเขียนเป็นทุน ไว้ก่อนได้บ้างสักหน้าก็ยังดี จะได้บอกเพื่อนที่คุยกันไว้ได้ว่าผลงานเราเริ่มเป็นตัวเป็นตนแล้ว หันไปเห็นหัวข้อประวัติ ผู้วิจัยเห็นว่าเขียนได้แน่นอนและไม่มีทางผิด เลยเขียนหัวข้อนี้ก่อนได้ 1 หน้า ตามเป้าหมาย ถ้าเสร็จไม่ทันปีนี้ค่อยเปลี่ยนอายุเพิ่มขึ้นสักปีก็ไม่ยากอะไร หัวข้อที่เหลือค่อย ๆ เขียนก็แล้วกัน
     สุดท้ายหลังจากได้พยายามเขียนจนกระทั่งได้ผลงานมา 1 เล่ม ด้วยความยากลำบาก เมื่อหยิบขึ้นดูแล้วก็ภูมิใจ ลองอ่านดูแล้วก็เข้าท่าดี เขียนได้ตั้ง 100 กว่าหน้า จะให้สามีช่วยอ่านบ้างก็ผัดผ่อนว่าไม่ค่อยว่างบ้าง เรื่องนี้ไม่ชำนาญบ้าง ของตัวเองก็ยังไม่เสร็จ ฯลฯ แต่ก็ดีเหมือนกันถ้าอ่านแล้วต้องบ่นว่าไม่ได้เรื่องอีก เพราะหลังจากแต่งงานแล้วเราแทบไม่มีอะไรได้เรื่องสักอย่าง แถมห้ามแต่แรก แล้วว่าอย่าทำเลย เสียเวลาเปล่า เลยเอาให้เพื่อนที่สนิทกันช่วยอ่าน บางคนก็ว่าใช้ได้ บางคนก็ให้เพิ่มโน่นเพิ่มนี่ ส่วนบางคนว่าอย่าส่งไปเลย เขียนอย่างนี้ไม่มีทางผ่านหรอก ขนาดรุ่นพี่ที่ทำดีกว่านี้ตั้งเยอะยังไม่ผ่านเลย นี่ของผู้อำนวยการก็เห็นว่าไม่ผ่านเหมือนกันชักใจเสีย ลองให้คนที่เคยผ่านแล้วตรวจดูน่าจะดีกว่า เพราะเขามีประสบการณ์คงแนะนำได้มากกว่าเพื่อน ๆ คอยสักอาทิตย์สองอาทิตย์คงไม่เป็นไร ส่งกลับมาให้แทบไม่ได้แก้อะไรเลย เขียนมาแต่ว่าดีแล้ว ลองให้อีกคนอ่านคราวนี้ต้องคอยนานกว่าเดิมอีก ได้คืนมา เห็นแล้วหน้ามืด แก้มามาก น่าจะมากกว่าที่เราเขียนทั้งหมดเสียอีก มีเส้นระโยงระยางไปมาเหมือนกับผู้ป่วยหนักในห้องไอซียู น้อยกว่าใยแมงมุมบนเพดานที่บ้านนิดเดียวเอง อย่าว่าแต่จะแก้ตามเลย อ่านก็ไม่ค่อยออก เก็บไว้ก่อนก็แล้วกันค่อยหาผู้รู้ที่เก่งจริง ๆ ให้ช่วยดีกว่า
     ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นตัวอย่างเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผู้ทำผลงานทางวิชาการทุกคนพบได้เสมอมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งคงจะรู้สึกท้อแท้แต่ก็ขอให้เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เตรียมตัวตั้งหลักใหม่ เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ให้ได้ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายาม อดทน เคล็ดลับเทคนิคต่าง ๆ กับอุปสรรคที่จะทำให้การทำผลงานทางวิชาการสำเร็จหรือล้มเหลวตามขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว แสดงได้ดังภาพ

 

book9