การทำผลงานทางวิชาการ จะมีขั้นตอนคล้ายกับการทำสิ่งอื่นทั่วๆ ไป คือ ต้องคิดเพื่อตัดสินใจ เตรียมวางแผน ลงมือทำ และตรวจสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยขั้นตอนแรก ๆ จะส่งผลต่อขั้นตอนอื่น ๆ นั่นคือ
ถ้าเริ่มต้นดีก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง นอกจากนี้ถ้ามีเคล็ดลับและเทคนิคต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอนด้วยแล้ว ก็ยิ่งเอื้อต่อความสำเร็จมากขึ้น เคล็ดลับและเทคนิคบางประการที่จะกล่าวต่อไปของแต่ละขั้นตอน อาจจะเหลื่อมกับขั้นตอนอื่นได้บ้าง เช่น การอ่านทบทวน ตรวจสอบ อาจจะมีทั้งระหว่างทำและเมื่อทำเสร็จแล้วก็ได้ หรือวัสดุอุปกรณ์อาจชื้อเตรียมไว้ก่อน หรือซื้อระหว่างทำก็ได้ เป็นต้น ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีสาระของเคล็ดลับและเทคนิคต่าง ๆ ในการทำผลงานทางวิชาการรวมทั้งสิ้น 87 ประการ ดังนี้การคิดเพื่อตัดสินใจเพื่อจะเลือกทำผลงาน เริ่มต้น ด้วยการเลือกทำในสิ่งที่รู้ สิ่งที่ชอบ ยึดตัวเอง โดยลดความกังวลว่าตัวเองไม่เก่ง จบไม่สูง ไม่รวย ควรเลือกทำสิ่งใกล้ตัว เลือกทำสิ่งที่ยาก จะใช้ประโยชน์ได้มาก เลือกทำสิ่งใหม่ ๆ อย่ากลัวว่าสิ่งที่จะทำเป็นของแปลก รีบทำก่อนที่ความรู้จะเปลี่ยนเพราะความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนได้เร็ว ทำเดี่ยวเหมาะกว่ากลุ่ม ถ้าเป็นเรื่องที่มีคนช่วยได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ช่วยก็ต้องทำเองได้ ห้ามคิดจ้างคนอื่นเป็นอันขาด ต้องมุ่งมั่นจริงจังเหมือนกับการดูละคร เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันโดยยึดคติว่ายิ่งให้ยิ่งได้ พึงระลึกอยู่เสมอว่าการทำผลงานทางวิชาการต้องมีอุปสรรคต่าง ๆ แน่นอน เมื่อพบกับอุปสรรคก็อย่าท้อแท้ต้องฟันฝ่าให้ได้
เมื่อคิดได้แล้วก็เตรียมวางแผน โดยต้องกำหนดโครงสร้างหรือกรอบให้ชัด ก่อนที่จะให้ผู้รู้ซึ่งอาจเป็นผู้ทรง คุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ ช่วยตรวจตั้งแต่ต้น โดยทำตามคนที่แนะนำให้ทำมากไว้ก่อน อย่ามัวแต่คอยของฟรีหรือของถูก เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือให้พร้อม ถ้าเป็นของมีคุณภาพจะคุ้มค่ากว่า เตรียมเอกสารที่จำเป็น คือ พจนานุกรม คู่มือการเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรม ลองสำรวจหาที่เงียบ ๆ ไว้สำหรับเขียน เตรียมติดต่อคนพิมพ์ พร้อมทั้งเลือกตัวพิมพ์ที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า หาคนช่วยงานอื่น ๆ และภาระประจำที่บั่นทอนการทำผลงาน คุยและผูกมิตรกับผู้เกี่ยวข้อง ถ้าจะถ่ายเอกสารก็ควรถ่ายให้ครบตามที่จะใช้ การซื้ออาจถูกกว่ายืม ควรเตรียมอุปกรณ์จำเป็นไว้ที่หัวเตียง และเตรียมทำใจไว้ว่างานมักช้ากว่ากำหนดเสมอ จึงควรเผื่อเวลาไว้ด้วย
ขั้นตอนต่อมา คือ ลงมือทำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้ทำต้องใช้เวลานานมากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ ต้องเริ่มเขียนตามโครงสร้างกรอบที่กำหนดไว้ ไม่ต้องรีบร้อนจนเกินไป อ่านให้เข้าใจก่อนจะเขียน การเขียนบทหลังก่อนจะทำให้สับสนได้ เขียนโดยใช้กระดาษหน้าเดียวและเว้นบรรทัด เขียนด้วยภาษาของตัวเองอย่างกระชับตรงไปตรงมาด้วยภาษาเขียนตามหลักวิชาการ ถ้าค้นคว้ามากจะเหนื่อยน้อย ค้นคว้าน้อยจะเหนื่อยมาก ห้ามคัดลอกหรือนำผลงานเล่มใดเล่มหนึ่งมาปรับเป็นของตนเองทั้งเล่ม ถ้าจะตัดแปะข้อความของผู้อื่นก็ควรปรับเสียก่อนให้สอดคล้องกับเรื่องที่ทำ และเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ถ้าข้อความที่จะตัดแปะน้อยก็ควรเขียนใหม่ ถ้าจะก๊อปปี้จากคอมพิวเตอร์ต้องระวังให้มาก อย่าเขียนโดยพลการ ไม่จำเป็นต้องให้จำนวนหน้ามาก พยายามให้เนื้อหาแต่ละส่วนใกล้เคียงกัน ระหว่างเขียนถ้ามีการอ้างอิงก็ลงรายการบรรณานุกรมทันที เขียนความจริงง่ายกว่าแม้จะเขียนแล้วอาจไม่ค่อยราบรื่น แต่ก็ยังดีกว่าเขียนได้ราบรื่นแต่ขาดความจริง เขียนด้วยการเรียบเรียงแล้วต้องสรุปทุกขั้นตอน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นให้เชื่อมโยงกับเรื่องที่ทำ ถ้าหยุดเขียนชั่วคราวควรบันทึกความคิดที่ค้างไว้ ควรปิดโทรศัพท์ระหว่างเขียน เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวนสมาธิ นึกอะไรออกให้ลงบันทึกไว้ทันที การเขียนต้องใช้เวลานาน ควรพักเป็นระยะ ๆ ถ้าคิดอะไรไม่ออกควรนอน อย่าให้เครียดเกินไป ถ้ามีข้อสงสัยก็ควรจดคำถามเตรียมไว้ถามผู้รู้ โดยถามสั้น ๆ กระชับ ในเวลาที่เหมาะสม และใช้สรรพนามแทนตัวเองให้ถูกต้อง
สุดท้ายคือขั้นตอนการตรวจสอบ อย่าคิดว่าคนพิมพ์จะช่วยตรวจให้ ต้องตรวจด้วยตัวเองก่อน นอกจากตรวจเองแล้วควรให้ผู้ใกล้ชิดและทาบทามผู้รู้ช่วยตรวจ โดยพึงระลึกว่าผู้รู้จริงไม่ค่อยว่าง ถ้าให้ผู้รู้ตรวจหลายคนมักจะสับสน ควรส่งเล่มที่สมบูรณ์ให้ตรวจ ผลที่ได้เป็นอย่างไรก็อย่าดีใจหรือเสียใจจนเกินไป เพราะการตรวจขึ้นอยู่กับตัวบุคคลสูง คำชมร้ายกว่าคำด่า อ่านคำแนะนำอย่างละเอียด เมื่อให้แก้ประการใดก็ควรแก้ตามนั้น โดยแก้ทุกจุดตลอดทั้งเล่ม และถ้าผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจให้อีก ก็อย่าลืมส่งเล่มเดิมไปให้เปรียบเทียบ ควรมีต้นฉบับผลงานเก็บไว้กับตัวเองด้วย ในกรณีเมื่อส่งไปแล้วไม่ผ่านก็ไม่สูญเปล่า และถ้าต้องการจะเผยแพร่ก็ติดต่อโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ได้
เคล็ดลับ : เทคนิคตามขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 87 ประการ ข้างต้น ส่วนใหญ่ผู้เขียนได้จากประสบการณ์ตรงจากการทำผลงาน การสอน เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ การเป็นวิทยากร และผู้ตรวจผลงาน นอกจากนี้ยังได้จากคำแนะนำของ รศ.ชูศักดิ์ เอกเพชร และแนวทางเคล็ดลับในการทำวิทยานิพนธ์ของ Wilson (นิศา ชูโต,2545:242-243 อ้างจาก Wilson, 1980 : 237 - 241 cited in Delamont ; 1992 : 116) อีก 13 ประการ ที่นำมาเสนอโดยตรงและปรับบ้าง เพราะเห็นว่าเป็นเคล็ดลับซึ่งตรงกับการทำผลงานที่พบมา ได้แก่ 1) อย่ากลัวที่จะใช้จินตนาการ หรือเห็นว่าเรื่องที่จะทำเป็นของแปลก 2) ความรู้เปลี่ยนเร็วต้องรีบทำ 3) ให้ผู้รู้ช่วยดูโครงสร้างหรือกรอบตั้งแต่เริ่มต้น 4) ซื้อพจนานุกรมเตรียมไว้ 5) หาสถานที่ที่เงียบ ๆ ไว้เขียน 6) พูดคุยกับคนอื่นถึงงานที่ทำ 7) ผูกมิตรกับบรรณารักษ์หรือผู้เกี่ยวข้อง 8) เขียนตามหัวข้อหรือกรอบที่กำหนดไว้ 9) ใช้กระดาษหน้าเดียว 10) เขียนเว้นบรรทัด 11) ระวังการก๊อปปี้ไฟล์จากคอมพิวเตอร์ 12) อ่านทบทวนเป็นระยะ และ 13) ถ้าหยุดเขียนชั่วคราวให้จดความคิดที่ค้างไว้ โดยนำเคล็ดลับดังกล่าวมาปรับและยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสังคมไทย
จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับขั้นตอนการทำผลงานทางวิชาการโดยทั่วไปจะมี 4 ขั้นตอน คือ คิดเพื่อตัดสินใจ ซึ่งมีเคล็ดลับและเทคนิคที่สำคัญ คือ เลือกทำในสิ่งที่รู้ โดยยึดตนเองเป็นหลัก เตรียมวางแผนที่สำคัญทั้งด้านเนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ เอกสารที่สำคัญ หาคนช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ ต่อมาเมื่อลงมือทำก็ควรทำตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยเขียนด้วยภาษาของตนเองอย่างกระชับตามความจริง และเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องที่ทำ ถ้ามีปัญหาก็จดประเด็นไว้ถามผู้รู้ในโอกาสที่เหมาะสม หลังจากเขียนและพิมพ์เสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การตรวจทั้งด้วยตัวเองและผู้อื่น เมื่อพบข้อบกพร่องหรือคำแนะนำก็ต้องปรับแก้ไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งเล่มภายในเวลาที่กำหนดจนกว่าจะสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้