ขั้นตอนการตรวจผลงานทางวิชาการ ได้จัดเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอแก่ผู้เกี่ยวข้องตามลำดับ ในขั้นตอนนี้มีเคล็ดลับ : เทคนิค 17 ประการ ส่วนใหญ่เป็นเคล็ดลับ : เทคนิคในการตรวจสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้ผลงานมีคุณภาพ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงราย ละเอียดของแต่ละเคล็ดลับ : เทคนิค พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์ หรือเปรียบเทียบกับเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับขั้นตอนอื่น ๆ ในการทำผลงานทางวิชาการ โดยนำเสนอเรียงตามลำดับ ดังนี้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 71 อย่าคิดว่าคนพิมพ์ตรวจคำผิดให้
หลังจากร่างต้นฉบับผลงานทางวิชาการเสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนส่งให้คนพิมพ์ ซึ่งผู้ทำผลงานบางคนก็ส่งเป็นบทๆ บางคนก็ส่งคราวเดียวกันทั้งฉบับ เมื่อส่งแล้วก็อย่าลืมอธิบาย รายละเอียดให้เข้าใจตรงกัน ยกเว้นว่าคนพิมพ์มีความชำนาญ เข้าใจงานดีอยู่แล้ว นอกจากจะให้พิมพ์แล้วผู้ทำผลงานบางคนอาจร้องขอให้คนพิมพ์ช่วยตรวจระหว่างพิมพ์ หรือเมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว หรือช่วยพิจารณาดูว่าเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ หรือไม่เพียงใดด้วย
ในทางปฏิบัติถ้าคนพิมพ์พอมีเวลา มีความสนิทสนมเกรงใจกัน และเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็อาจเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นงานด่วนซึ่งมักด่วนเสมอ ก็อย่าคิดว่าคนพิมพ์จะตรวจคำผิดหรือส่วนอื่น ๆ ให้ ขอเพียงพิมพ์ให้เสร็จทันตามที่กำหนดก็พอแล้ว ดังนั้น ผู้ทำผลงานจึงต้องหาวิธีการต่าง ๆ ตรวจผลงานของตน ดังที่จะกล่าวต่อไป
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 72 ตรวจด้วยตัวเองก่อน
ในเบื้องต้นเมื่อรับงานที่พิมพ์เสร็จแล้ว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนคืน ครั้งแรกผู้ทำผลงานต้องตรวจด้วยตนเองก่อน เพราะไม่มีใครจะเข้าใจเนื้อหาได้ดีเท่ากับคนทำ โดยตรวจด้วยวิธีใช้ปากกาชี้ไปทีละคำ ไม่ใช่อ่านผ่าน ๆ เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็ส่งกลับไปให้คนพิมพ์แก้ไขอีกครั้ง โดยจะส่งแต่ละส่วนหรือทั้งหมดก็ได้เช่นกัน หลังจากแก้เสร็จแล้วก็ควรเปรียบเทียบกับต้นฉบับที่สั่งให้แก้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการแก้ไขมีการเพิ่มหรือลดเนื้อหา
การสั่งให้แก้จากการพิมพ์ครั้งแรกมักจะพบหลายแห่ง อาจต้องแก้มากถึง 300 แห่ง เมื่อให้แก้ไขข้อบกพร่องก็ต้องเขียนให้ชัดเจน โดยอาจทำเครื่องหมายให้คนพิมพ์เห็นได้ชัด หรือถ้าเกรงว่าจะมีการข้ามไปบ้างก็ใส่ลำดับที่จะแก้ไว้ก็ได้ ในกรณีที่มีการเพิ่ม ลด หรือปรับเนื้อหาจากการพิมพ์ครั้งแรกด้วย บางครั้งจำนวนแห่งที่ผิดแทบไม่ลดลงจากการพิมพ์ครั้งแรก จึงอาจต้องตรวจด้วยตัวเองหลายครั้งก็เป็นได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 73 ให้คนใกล้ชิดตรวจ
เมื่อตรวจด้วยตัวเองและมีการปรับปรุง จนกระทั่งตรวจไม่พบข้อบกพร่องแล้ว ก็ควรให้คนใกล้ชิด เช่น สามี ภรรยา ลูกที่โตแล้ว เพื่อนฝูง ฯลฯ ช่วยตรวจทานอีกครั้ง โดยทำสำเนาให้คนละชุดถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ยิ่งให้ตรวจมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยนัดวันเวลารับคืนให้พร้อมหรือใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้นำมารวบรวมข้อบกพร่องปรับแก้อีกครั้งจากประสบการณ์พบว่า หลังจากตรวจด้วยตัวเองอย่างละเอียดและปรับแก้หลายครั้งแล้ว เมื่อให้คนอื่นช่วยตรวจก็ยังพบข้อบกพร่องต่าง ๆ อีกมาก ยิ่งตรวจหลายคนก็ยิ่งพบมาก ผลงานบางเล่มเคยให้คนตรวจถึง 12 คน โดยตรวจและปรับแก้ถึง 9 ครั้ง กว่าจะสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจถ้ายังพบข้อบกพร่องอีกมาก หลังจากเจ้าของผลงาน ตรวจแล้ว เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของมักตรวจความผิดของตัวเองไม่เจอ
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 74 ทาบทามผู้รู้
เมื่อผ่านขั้นตอนตรวจเอง และผู้ใกล้ชิดช่วยตรวจ พร้อมทั้งปรับแก้เสร็จแล้วก็ควรให้ผู้รู้ช่วยตรวจ ซึ่งคงเน้นข้อบกพร่องที่เป็นเนื้อหาสาระมากกว่าจะเป็นการตรวจคำผิด โดยควรติดต่อ ประสาน เพื่อทาบทามว่าจะให้ความอนุเคราะห์ หรือไม่ อย่างไร โดยแนะนำตัวเองพร้อมกับสาระโดยสรุปของผลงานที่ทำ เพื่อให้ผู้รู้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะให้ความอนุเคราะห์ได้หรือไม่ จะให้มาพบด้วยตัวเองหรือจะส่งทางไปรษณีย์หรือวิธีอื่น ๆ อย่างไร การจะให้ผู้รู้ช่วยตรวจ โดยมารยาทต้องมีการทาบทามเสียก่อน เพราะบางครั้งอาจเข้าใจไม่ตรงกัน ผลงานที่จะให้ช่วยตรวจเป็นเรื่องที่ผู้รู้ไม่ชำนาญก็ได้ จะทำให้เสียเวลาเปล่า ถึงแม้จะชำนาญก็อาจมีเงื่อนไขเรื่องเวลาอีกด้วยเพราะผู้รู้จริงมักไม่ค่อยว่าง ดังที่จะกล่าวในเคล็ดลับ : เทคนิคต่อไป
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 75 ผู้รู้จริงมักไม่ค่อยว่าง
ผู้รู้หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถมักไม่ค่อยมีเวลาว่าง ดังนั้น เมื่อติดต่อประสานเพื่อทาบทามแล้ว โอกาสจะได้รับคำตอบว่าไม่มีเวลาจึงเป็นไปได้สูง อย่าเพิ่งท้อแท้อย่างไรเสียผู้รู้ก็เป็นนักวิชาการ มักจะมีความเมตตาเสมอ ไม่ใช่นักธุรกิจที่คิดเรื่องกำไรขาดทุน ถ้าได้รับคำตอบ ดังกล่าวก็อาจชี้แจงความจำเป็น ทำท่าทางให้น่าสงสารเข้าไว้ ผู้เขียนเองก็เคยทำหน้าละห้อย หรือพูดภาษาชาวบ้านที่เห็นกันทั่วไป คือ ทำหน้าเหมือนหมาขอข้าว
จากประสบการณ์พบว่าผู้รู้จริงมักไม่ค่อยว่าง แต่แฝงไว้ด้วยความเมตตาเสมอ เพียงแต่อาจจะช้าไปบ้าง ส่วนผู้ที่รู้ไม่จริง มักจะมีเวลาว่างและเสนอตัวจะช่วยตรวจผลงานให้ ต้องพึงระวังไว้เพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะตรวจงานให้สมบูรณ์ เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นคนมีภูมิรู้เท่านั้น อาจมีการแก้มามากมายจนงง เจอที่ผิดสัก 2 - 3 คำ อาจเขียนแก้มาถึง 2 - 3 ย่อหน้า และมักจะใช้ประโยชน์แทบไม่ได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 76 ส่งเล่มสมบูรณ์ให้ตรวจ
การที่ผู้รู้ให้ความอนุเคราะห์ตรวจผลงานให้ ถือว่าเป็นความโชคดี เมื่อจะส่งให้ตรวจก็ควรจัดทำรูปเล่มให้สมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ทำผลงานเองและความสะดวกของผู้รู้ ไม่ควรส่งเล่มที่ยังไม่สมบูรณ์ให้ตรวจ โดยพูดว่า “ลองส่งมาดูก่อน ฉบับสมบูรณ์กำลังพิมพ์เดี๋ยวจะส่งมาทีหลัง” ฯลฯ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าผู้รู้จริงไม่ค่อยว่าง ส่วนใหญ่ที่พบ คือ มักไม่มีสารบัญ บางรายไม่มีชื่อเรื่อง ทำให้ผู้รู้ต้องเสียเวลาดูรายละเอียด แทนที่จะได้เห็นภาพรวมโครงสร้าง เนื้อหาทั้งหมดของผลงาน เมื่อถามเจ้าของผลงานก็จำไม่ได้เสียอีก
ในกรณีที่ผู้รู้เปิดโอกาสให้ผู้ทำผลงานเข้าพบได้ ควร จะนำผลงานไป 2 ชุด ไม่ต้องมานั่งดูฉบับเดียวกัน ถ้ารู้สึกเกร็งว่าจะเปิดไปยังหน้าต่าง ๆ ได้ช้า ก็ควรทำสลิปทางขวามือไว้ ในกรณีที่ส่งให้ตรวจทางไปรษณีย์หรือฝากผู้อื่นไป ควรจ่าหน้าซองถึงตัวเอง พร้อมกับปิดแสตมป์แนบไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของผู้รู้ทั้งเวลาและค่าแสตมป์อีก
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 77 หลายคนแนะนำมักสับสน
จากที่กล่าวมาถึงเคล็ดลับ : เทคนิคให้ผู้ใกล้ชิดช่วยตรวจ ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งดีเพราะเป็นการตรวจหาคำผิด แต่ถ้ากรณีที่เป็นผู้รู้ซึ่งต้องให้ข้อเสนอแนะถ้ามีหลายคนและแนะนำไปในทิศทางเดียวกันก็จะดี ถ้าแนะนำขัดแย้งกันก็อาจเกิดปัญหาได้ ผู้ทำผลงานต้องตัดสินใจโดยยึดหลักทางวิชาการอย่างเคร่งครัด ถ้าเกิดเกรงใจโดยนำข้อเสนอแนะของผู้รู้คนโน้นนิดคนนี้หน่อย และไม่สอดคล้องกันแล้วก็จะเกิดผลเสียขึ้นได้ ถ้ามีการนำไปให้ตรวจซ้ำอีกครั้งก็อาจตำหนิว่าทำไมไม่ทำตามทั้งหมด ทำไม......................ฯลฯ
ในเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของผู้รู้นี้ จากประสบการณ์พบว่า ผู้ทำผลงานที่ให้ผู้รู้ช่วยตรวจหลายคนจะประสบปัญหาเสมอ ยิ่งถ้าเป็นคนตัดสินใจไม่ได้ก็ยิ่งเป็นปัญหา บางครั้งมีการปรับแก้จนแทบจำของเดิมไม่ได้ จะขอให้ย้อนกลับไปถึงเคล็ดลับ : เทคนิคที่ว่า ให้ยึดตัวเองเป็นหลัก ไม่มีใครรู้รายละเอียดของผลงานเท่ากับผู้ทำ ถ้าเกิดเหตุดังกล่าวข้างต้นควรตัดสินโดยใช้หนังสือหรือตำราที่ได้มาตรฐาน
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 78 อย่าดีใจหรือเสียใจเกินเหตุ
ผลการตรวจของผู้รู้ มีความหมายต่อผู้ทำผลงานมาก แม้จะถือว่าเป็นการตรวจลำลอง ยังต้องผ่านการตรวจจริงอีกครั้ง แต่ผู้ทำอาจมีการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าผู้รู้ที่ให้ความอนุเคราะห์เห็นว่า อย่างไรก็น่าจะใกล้เคียงกับการตรวจจริง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเป็นตามที่คาดหรือเปล่า บางคนเมื่อผู้รู้เห็นด้วยหรือชมเชยก็รู้สึกดีใจนำไปบอกพรรคพวกเพื่อนฝูงอย่างเอิกเกริก บางคนเมื่อผู้รู้ไม่เห็นด้วยก็รู้สึกท้อแท้เสียใจจนหมดกำลังใจไปก็มี
จากประสบการณ์พบว่า ผลงานชิ้นเดียวกันจากการตรวจ 2 แหล่ง ได้ผลต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือก็มี นั่นคือ นำผลงานชิ้นนั้นไปเสนอให้คณะผู้ตรวจแห่งแรกได้รับ คำตำหนิมากมายเหมือนกับต้องทำใหม่ แต่ต่อมาเวลาผ่านไปเพียง 2 - 3 เดือน นำงานชิ้นเดียวกันส่งไปให้คณะกรรมการ อีกแห่งหนึ่งตรวจเพื่อประกวด กลับกลายเป็นได้รางวัลที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ปรับแก้ใด ๆ เลย ทั้งนี้เพราะการตรวจผลงานถือเป็นสังคมศาสตร์ ซึ่งมีอัตวิสัย (Subjective) สูงนั่นเอง
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 79 การตรวจเป็นอัตวิสัย
การตรวจผลงานใช้คนเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ใช่การวัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งวัดได้ชัดเจนและไม่มีข้อถกเถียงกันได้ ทุกคนยอมรับผลจากการวัด ไม่ว่าจะตรวจเลือด ตรวจดีเอ็นเอ ชั่งน้ำหนักหรือวัดส่วนสูง ผลที่ได้ไม่ต้องตี ความเพราะเป็นการวัดโดยตรง ในขณะที่การตรวจผลงานเป็นการตรวจทางสังคมศาสตร์ มีอัตวิสัยสูง ผลการตรวจแตกต่างกันได้เสมอ แม้แต่ศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสูงสุดบางครั้งมีการตัดสินแล้วบางคนก็ยังไม่ยอมรับ โดยเฉพาะคดีทางการเมืองดังที่ทราบกันทั่วไป
การตรวจผลงานทางวิชาการ มีส่วนคล้ายกับการตรวจข้อสอบอัตนัย ผู้ตรวจแต่ละคนมีมาตรฐานต่างกัน เคยมีเรื่องเล่าสนุก ๆ กันว่า ศาสตราจารย์สูงอายุท่านหนึ่งให้นักศึกษาตอบข้อสอบอัตนัย โดยทำตามหลักการวัดผล คือ เขียนคำเฉลยไว้ล่วงหน้า เมื่อจะตรวจก็นอนเอนหลังแล้วให้หลานช่วยอ่านคำตอบของนักศึกษาให้ฟังทีละคน เสร็จแล้วก็ให้คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ก็ให้ 70 บ้าง 80 บ้าง หลานจึงลองอ่านคำตอบที่เฉลยไว้ ปรากฏว่าได้เพียง 60 คะแนนเท่านั้น เมื่อหลานบอกว่านี่เป็นคำตอบที่เฉลยไว้ ก็ตอบกลับมาว่าลืมไป ตอบมาดี ๆ อย่างนี้ควรได้ 100 คะแนนเต็ม
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 80 คำชมร้ายกว่าคำด่า
คำว่า “หวานเป็นลมขมเป็นยา” หรือ “ปากหวานก้นเปรี้ยว” คงเคยได้ยินกันมาแล้ว การทำผลงานก็เช่นกัน ผู้รู้บางคนมีความเกรงใจก็ไม่กล้าตำหนิหรือสั่งให้แก้ หรืออาจมีเหตุผลอื่น ๆ โดยอาจเขียนว่า “ดีแล้ว” “สมบูรณ์” ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลงานแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้รู้บางคนก็มีนิสัยความเป็นครู ก่อนจะแก้ไขอะไรก็สั่งสอนเสียก่อนแล้วจึงแนะนำให้แก้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำผลงานมากกว่า
ส่วนคำที่ว่า “คนปากร้ายใจดี” ก็พบเห็นได้ทั่วไปในการช่วยตรวจผลงานทางวิชาการ ดังที่กล่าวมาแล้วจะมีการตำหนิเสียก่อน แล้วค่อยสอนหรือแนะนำให้แก้ เช่น “ทำ อย่างนี้ได้อย่างไร เรียนจบปริญญาโทก็แล้ว เคยส่งผลงานไม่ผ่านมาก็แล้ว ทำไมไม่ใช้...........ของ...............” ซึ่งคำตำหนิพร้อมทั้งคำแนะนำเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 81 อ่านคำแนะนำให้ละเอียด
จากความอนุเคราะห์ของผู้รู้ที่ช่วยตรวจให้ เมื่อรับกลับคืนมาแล้วควรอ่านคำแนะนำต่าง ๆ ให้เข้าใจก่อนจะปรับแก้และส่งให้คนพิมพ์ ซึ่งบางครั้งอาจมีปัญหาเรื่องลายมือที่เขียนแนะนำมา เขียนหวัดมากอ่านไม่ออกเพราะผู้รู้มีเวลาน้อย จึงต้องรีบเขียน ก็ค่อย ๆ แกะไปเรื่อย ๆ และคงจะเข้าใจหรือพอจะเดาได้ในที่สุด ถ้ายังมีข้อสงสัยประการใดและมีโอกาสก็อาจถามส่วนที่ไม่เข้าใจอีกครั้ง
ในเรื่องดังกล่าวเท่าที่ผ่านมาพบว่า ผู้ทำผลงานบางคนแทบไม่ได้ศึกษาคำแนะนำของผู้รู้ที่ช่วยตรวจให้เลย โดยส่งให้เป็นหน้าที่ของคนพิมพ์ ซึ่งพบว่าบางครั้งเขียนแนะนำไปว่า “วรรค” ก็พิมพ์คำว่า “วรรค” เข้าไปในข้อความ หรือเขียนแนะนำไปว่า “ย่อหน้า” ก็พิมพ์คำว่า “ย่อหน้า” ก่อนข้อความ หรือเขียนแนะนำไปว่า “ปรับ” ก็พิมพ์คำว่า “ปรับ” มาเลยโดยไม่อ่านให้ละเอียด หรือถ้ามองในแง่ดีคงจะเป็นคนตรง ๆ จึงทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 82 ปรับแก้ตามคำแนะนำ
หลังจากทำความเข้าใจกับคำแนะนำได้แล้ว ก็ควรปรับแก้ตามคำแนะนำของผู้รู้ไปเรื่อย ๆ คำแนะนำบางอย่าง อาจต้องค้นคว้าเพิ่มเติมซึ่งต้องใช้เวลา บางอย่างก็เพียงแต่ใช้ความเข้าใจก็ปรับแก้ได้ทันที ซึ่งควรปรับแก้ตามคำแนะนำ ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพราะถ้าไม่ปรับปรุงก็ไม่รู้ว่าจะขอความ อนุเคราะห์ไปทำไม ยกเว้นว่ามีการเข้าใจผิดหรือไม่อย่างไร ก็ควรชี้แจงเหตุผลในกรณีที่จะส่งให้ช่วยตรวจอีกครั้ง
ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ให้ผู้รู้ ช่วยตรวจหลายคน และให้คำแนะนำไม่ตรงกันแล้ว ผู้ทำผลงานต้องพิจารณาตัดสินใจ ถ้าเห็นว่านำไปปรึกษาผู้รู้คนใดคนหนึ่งที่ช่วยตรวจแล้ว เพื่อจะหาข้อสรุปได้โดยไม่เกิดปัญหาก็ควรทำ แต่ถ้าเห็นว่าน่าจะทำให้มีปัญหาหนักขึ้นเพราะสาเหตุต่าง ๆ ก็ต้องตัดสินใจเอง หรือขอคำแนะนำจากผู้รู้คนอื่นนอกเหนือ จากคนเดิมก็ได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 83 แก้ทุกจุดตลอดทั้งเล่ม
ในการปรับแก้ผลงานทางวิชาการ ผู้ทำผลงานต้องรอบคอบ โดยปรับแก้จุดใดจุดหนึ่งแล้วต้องปรับแก้ทุกจุดตลอดทั้งเล่มเสมอแม้กระทั่งสารบัญก็ต้องปรับแก้ ถ้ามีหัวข้อหรือเลขหน้าเปลี่ยน นอกจากจะแก้ส่วนที่เป็นข้อบกพร่องโดยตรงแล้ว ก็ต้องพิจารณาถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกันด้วยว่าจำเป็น ต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกันหรือไม่ เข้าทำนอง “ถอนรากถอนโคน” ไม่ให้เหลือแม้แต่ตอ ถ้าเป็นสมัยโบราณก็อาจกล่าวได้ว่า “ประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร” ให้สูญพันธ์ไปเลย
จากประสบการณ์พบอยู่เสมอว่า ผู้ทำผลงานไม่แก้ทุกแห่งตลอดทั้งเล่ม มักจะแก้เฉพาะจุดที่แนะนำไว้จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ต้องเขียนไปว่า “แก้........ทุกแห่ง” เพื่อป้องกันพวกศรีธนญชัยกลับชาติมาเกิดไม่ให้อ้างได้ เมื่อแก้ไม่ครบทุกแห่งจะทำให้เนื้อหาไม่สอดคล้องกันหรือที่ร้ายที่สุด คือ ขัดแย้งกันเลย เช่น ผลการแปลความหมายว่า “มาก” ในผลการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่ออภิปรายก็นำความหมายดังกล่าวไปอภิปราย โดยให้เหตุผล ต่าง ๆ ต่อมาเมื่อแก้การแปลความหมายที่ผิดเป็น “น้อย” แต่ไม่ได้แก้ผลการอภิปรายด้วยก็จะเป็นการเขียนที่ค้านกันในตัว เป็นต้น
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 84 ส่งให้ตรวจครั้งใหม่ ส่งเล่มเดิมด้วย
ในกรณีที่ผู้รู้ตรวจครั้งแรก แล้วยังกรุณาให้ความอนุเคราะห์ตรวจครั้งต่อไปอีก หรือในกรณีที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาต้องตรวจให้คำแนะนำจนกว่า จะเสร็จกระบวนการ เมื่อจะส่งผลงานที่ปรับแก้ตามคำแนะนำ ไปให้ตรวจครั้งต่อไป เพื่อความรวดเร็วของทั้งฝ่ายผู้ทำและฝ่ายผู้ตรวจ ก็ควรแนบเล่มเดิมไปด้วยเพื่อจะได้เปรียบเทียบกันได้ เพราะผู้รู้หรืออาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งมีภาระมากอาจลืมว่าได้เสนอแนะไว้อย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ เมื่อแนบเล่มเดิมไปด้วยแล้ว แต่ถ้าผู้ตรวจแนะนำให้แก้เพิ่มเติมจากครั้งก่อนอีกก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ อย่าคิดว่าเป็นภาระเพิ่มเติม และคิดว่าทำไมไม่ตรวจและแนะนำให้ครบเสียตั้งแต่ครั้งก่อน ซึ่งการตรวจแต่ละครั้งอาจมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ เวลา ถ้าเวลาน้อยก็ต้องตรวจอย่างคร่าว ๆ เมื่อมีเวลามากก็ตรวจได้ละเอียดขึ้น ควรดีใจเสียด้วยซ้ำที่ผู้ตรวจให้ความ สำคัญกับผลงานของเรา และถ้าไปพบผู้ตรวจสิ่งที่ไม่ควรพูดอย่างยิ่งก็คือคำว่า “คราวก่อนไม่ได้สั่งให้แก้ไว้ ทำไมไม่สั่งให้เสร็จเสียเลย” ซึ่งเท่ากับเป็นการตำหนิผู้ช่วยตรวจว่าขาดความรอบคอบ
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 85 เก็บต้นฉบับผลงานไว้กับตัวด้วย
หลังจากจัดพิมพ์ผลงานเสร็จสิ้นแล้ว ระหว่างรอผลการตรวจจากผู้รู้ เจ้าของผลงานควรเก็บต้นฉบับไว้อย่างน้อย 1 เล่ม ด้วย ไม่ควรส่งไปยังแหล่งต่าง ๆ จนหมด เพราะบางครั้งอาจจะรีบจนกระทั่งแม้แต่ถ่ายเอกสารก็ไม่ทัน อย่างน้อยก็ควรเก็บข้อมูลไว้ในแผ่นซีดี หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลอื่น ๆ เพื่อจะได้พิมพ์เก็บไว้
ต้นฉบับที่เก็บไว้ นอกจากจะสามารถนำมาตรวจทบทวนไปพลาง ๆ ได้แล้ว กรณีที่มีการพูดคุยหรือปรึกษา หารือกับใครก็จะได้ให้ดูต้นฉบับจริงได้ หรือถ้าผู้ตรวจโทรศัพท์มาพูดคุยถึงผลงาน ก็จะได้ถือต้นฉบับไว้เปรียบเทียบ กันได้ ถ้ามีการปรับแก้ไม่มากและผู้ตรวจอยู่ต่างพื้นที่จะส่ง กลับมาเสียเวลาก็ใช้โทรศัพท์ปรับแก้กันได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 86 ไม่ผ่านก็ไม่สูญเปล่า
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การทำผลงานทางวิชาการสำหรับเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะนั้น เป็นการทำควบคู่กับการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน หน่วยงานจึงได้ประโยชน์โดยตรง ส่วนการส่งให้ตรวจว่าควรได้เลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะหรือไม่ให้ถือเป็นผลพลอยได้ แม้จะไม่ผ่านก็ไม่สูญเปล่า เพราะนอกจากหน่วยงานจะได้ประโยชน์แล้ว ผู้ทำเองก็ได้ประสบการณ์อีกด้วย เมื่อจะทำใหม่ก็พอจะรู้แนวทางบ้าง ยิ่งไม่ผ่านครั้งแรกแต่ผ่านครั้งหลังก็จะมีประสบการณ์ครบถ้วน เพื่อนที่ทำไม่ผ่านมาปรับทุกข์ก็ปลอบใจได้ถูก เพื่อนที่ทำผ่านแล้วมาคุยด้วยก็คุยกันได้
ผลงานประเภทงานวิจัยที่ทำขึ้น ส่วนใหญ่จะมีนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำไปทดลองใช้ ซึ่งเมื่อเขียนรายงานวิจัยแล้วไม่ผ่านก็ใช่ว่านวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์จะสูญหายไปด้วย สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ในโอกาสต่อไปได้ อุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็หาแนวทางขจัดให้หมดไป หรือทุเลาให้เบาบางลงไปได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 87 ถ้าจะพิมพ์เผยแพร่
เมื่อผลงานเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว ถ้าผู้ทำผลงาน เห็นว่าผลงานของตนน่าสนใจ มีความประสงค์จะเผยแพร่ผลงานด้วยการพิมพ์ ก็สามารถดำเนินการได้โดยติดต่อไปยังโรงพิมพ์ต่าง ๆ ถ้าอยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ก็อาจติดต่อโรงพิมพ์ในพื้นที่ก่อนแล้วค่อยติดต่อโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ แต่ถ้าอยู่จังหวัดเล็ก ๆ ก็อาจติดต่อไปที่กรุงเทพฯ เลย หรือลองปรึกษากับผู้ที่เคยพิมพ์ผลงานมาก่อนก็ยิ่งดี
ถ้าไม่อยากจะลงทุนพิมพ์เอง ก็อาจส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ พิจารณาจัดพิมพ์ให้ และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งตามที่ตกลงกับผู้ทำผลงาน แต่ต้องใช้เวลาตรวจมาก และถ้าผู้ทำผลงานยังไม่มีชื่อเสียงก็อาจจะได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น ถ้าต้องการให้เร็วก็ต้องลงทุนเองโดยเฉพาะการพิมพ์ครั้งแรกจะต้องใช้เพลท ทำให้ค่าพิมพ์แพง เมื่อพิมพ์ครั้งหลังก็จะถูกลง ทั้งนี้ค่าพิมพ์ขึ้นอยู่กับจำนวนเล่มที่พิมพ์ด้วย ยิ่งจำนวนมากก็ยิ่งถูก เมื่อพิมพ์เสร็จอาจใช้วิธีฝากขายตามร้านหนังสือ หรือมอบให้สำนักพิมพ์จัดจำหน่ายก็ได้