PITSANU.NET : การจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการ, ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ

head images blog

 

     บทความนี้จะนำเสนอสาระเกี่ยวกับผลงานทางวิชาการ ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยเป็นทั้งผู้ที่เคยเสนอผลงาน และผู้ทรงคุณวุฒิตรวจผลงานทางวิชาการประเภทต่าง ๆ เป็นผู้สอนและที่ปรึกษานักศึกษาระดับปริญญาโท – เอก รวมทั้งเป็นวิทยากรให้คำแนะนำแก่ผู้ทำผลงานทางวิชาการ จึงจะนำเสนอสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลงานทางวิชาการมีข้อบกพร่อง 3 สาเหตุ คือ 1) ยึดแบบมากกว่ายึดหลัก 2) ไม่ได้ทำจริง และ 3) ไม่ได้ทำเอง ดังนี้


1. ยึดแบบมากกว่ายึดหลัก
     การทำผลงานทางวิชาการก็เช่นเดียวกับการดำเนินงานอื่น ๆ คือ มีหลักการ ดังนั้นผู้ทำจึงต้องยึดหลักไว้และนำส่วนอื่น ๆ เข้ามาประกอบโดยไม่ขัดแย้งกับหลัก แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีผู้ทำผลงานจำนวนไม่น้อย (ไม่แน่ใจว่าเกินครึ่งหรือไม่) มักจะยึดแบบเพราะเห็นว่าสะดวก รวดเร็ว เห็นผลภายในพริบตา ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเครียด ที่เห็นได้ชัดคือมักเสาะแสวงหาตัวอย่างจากผลงานเล่มหนึ่งเล่มใดที่ตรงกับงานที่จะทำ ยิ่งถ้าผ่านแล้วก็ยิ่งอยากได้มาก (บางครั้งไม่ต้องตรงกับงานที่จะทำก็ได้ เพราะยังไม่ได้คิดไว้ เอาตัวอย่างที่ชอบหรือพอใจไปตั้งต้นเลยก็มี) ไม่ว่าจะยากเพียงใดก็จะเอาให้ได้ รู้สึกมีความสุขเมื่อสามารถหยิบยืมมาได้ เพราะอุตส่าห์คอยและหามานานจนเพื่อนๆ หลายคนทำเสร็จไปแล้ว เปรียบเสมือนลูกไก่อยู่ในกำมือแล้วจะจัดการเมื่อใดก็ได้ เผลอๆ อาจเสร็จก่อนเพื่อนบางคนเสียอีก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการยึดแบบจะมีผลเสียที่เห็นได้ชัด 2 ประการ คือ
ประการแรก ผลงานทางวิชาการทุกชิ้นหรือทุกเล่มย่อมมีข้อบกพร่องมากบ้างน้อยบ้างเสมอ ไม่มีเล่มใดสมบูรณ์ 100% เช่นเดียวกับสิ่งของอื่น ๆ เมื่อนำมาเป็นแบบก็ย่อมไม่รู้ว่าตรงไหนผิดตรงไหนถูกอย่างไร จะทำตามเพราะเชื่อว่าน่าจะผ่านการพิจารณามาดีแล้ว ถ้าเป็นผลงานที่ผ่านแล้วก็ยิ่งเชื่อมั่นยิ่งขึ้น ซึ่งเกณฑ์การผ่านของผลงานทางวิชาการเริ่มตั้งแต่ 65% หรือ 70 – 75% ในระดับสูงๆ จึงต้องมีข้อบกพร่องแน่นอน การให้คะแนนของผู้ตรวจ บางคนก็ตรวจละเอียด บางคนก็อาจตรวจในภาพรวมด้วยความชำนาญ และที่สำคัญที่สุดคือผลงานที่เผยแพร่บางเล่มยังไม่ได้ปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจเลย เพราะต้องเผยแพร่ก่อนส่ง การนำมาเป็นแบบจึงทำให้เกิดข้อบกพร่องกับผลงานของตนได้ง่าย
ประการที่สอง แม้ว่าอาจจะปลอดภัยจากประการแรกแล้ว คือ ผลงานที่ได้มาอาจมีความสมบูรณ์เพียงพอ แต่ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าสอดคล้องกับผลงานที่เราจะทำหรือไม่เพียงใด ถ้าไม่สอดคล้องหรือสอดคล้องบ้างแต่นำมาใช้โดยไม่ปรับไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็จะเกิดข้อบกพร่องขึ้นได้เช่นกัน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น ส่งผลงานเพื่อเสนอขอเลื่อนตำแหน่งแล้ว ผลการพิจารณาไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะหาสาเหตุและแก้ไขได้ยากเพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เนื่องจากอาศัยการยึดแบบเป็นหลักแทนที่จะใช้หลักนำแบบ
จากที่กล่าวมาไม่ได้ห้ามการยึดแบบเลยทีเดียว เพียงแต่ต้องยึดหลักไว้และใช้แบบหรือสิ่งอื่น ๆ เป็นตัวเสริม คำว่าหลักในที่นี้ก็คือ หลักตามผลงานวิชาการประเภทนั้น ๆ เช่น ถ้าประเภทงานวิจัยหรือประเมิน ก็ต้องยึดหลักตามระเบียบวิธีวิจัยหรือประเมินไว้ให้แม่น แบบหรือตัวอย่างต่าง ๆ เป็นเพียงส่วนเสริมหรือตัวช่วยเท่านั้น ข้อเสียของการยึดแบบนอกจากจะทำให้ผลงานมีข้อบกพร่องได้แล้ว ยังทำให้ขาดความมั่นใจอีกด้วย ได้ยินได้ฟังอะไรมาก็กังวล สับสนได้ง่าย เกิดความโลเล จะทำผลงานสักชิ้นก็เลยต้องเปลี่ยนเรื่องอยู่เรื่อยๆ บางคนวันละ 2 – 3 เรื่อง เมื่อถึงช่วงพักของการเข้าอบรม พอเข้าห้องน้ำได้ยินเขาพูดกันก็เก็บมากังวล
คำถามที่พบบ่อย ๆ เช่น “อาจารย์คะ เห็นเขาว่าใครส่งผลงานเกี่ยวกับแบบฝึก จะตกมาก จริงไหมคะ” ผมก็ตอบว่า “จริง” จากนั้นก็จะอุทานด้วยความตกใจ “เอ๊า! งั้นหนูต้องเปลี่ยนเรื่องอีกสิคะ ถ้าเปลี่ยนอีกก็เป็นครั้งที่ 8 แล้วค่ะ” ผมจึงตอบไปว่าที่ได้ยินมานั้นอาจจะมีส่วนจริง เพราะมีผู้ส่งแบบฝึกกันมากก็ย่อมมีโอกาสตกมาก เช่นเดียวกับรถยี่ห้อใดที่คนใช้มากก็ย่อมเกิดอุบัติเหตุได้มากตามสัดส่วน นอกจากนี้น่าจะเป็นเพราะทำแบบฝึกไม่ดีไม่ใช่เป็นเพราะแบบฝึก เมื่อได้คำตอบหน้าตาก็คลายความเครียดลง และถามอีกว่า “ถ้าอย่างนั้นหนูทำแบบฝึกให้ดีที่สุดก็มีโอกาสผ่านสิคะ” ผมก็เลยตอบไปว่า “มั๊ง” ก็เลยยิ้มออกมาอย่างมีความหวังและรีบกลับเข้าห้องอบรมทันที ไม่แน่ใจว่าช่วงเบรคบ่ายจะเปลี่ยนเรื่องอีกหรือไม่


2. ไม่ได้ทำจริง
     คำว่าไม่ได้ทำจริงในที่นี้ส่วนใหญ่คือ ไม่ได้ทดลองจริง หรือไม่เก็บข้อมูลจริง หรือทั้งสองอย่าง ผมเองมีความแปลกใจเสมอว่าทำไมผลงาน 2 ชิ้น เมื่อเปรียบเทียบจากการเขียนตามหลักวิชาการแล้ว ผลงานเล่มที่ผมเห็นว่าดีกว่าจึงไม่ผ่าน ส่วนเล่มที่เห็นว่าด้อยกว่ากลับผ่าน จึงเก็บความสงสัยไปถามผู้ตรวจว่ามีเหตุผลอะไร ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่น่าจะทำจริง โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ แล้ว ส่วนเล่มที่ดูด้อยกว่านั้นน่าจะทำจริง” จากคำตอบข้างต้นทำให้ฉุกคิดได้ว่า ถ้าผู้ทำผลงานไม่ได้ทำจริงแต่เขียนรายงานโดยเสกหรือเมคข้อมูลขึ้นมาเอง ผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรวจก็อาจทราบได้เพราะต้องมีพิรุธอยู่บ้าง เพราะว่าผลงานทางวิชาการส่วนใหญ่มีความหนาประมาณ 100 – 200 หน้า การเขียนโดยไม่ได้ทำจริงย่อมมีโอกาสพลาดได้ง่าย เพราะขาดความสอดคล้องกลมกลืมกัน เช่นเดียวกับคนพูดโกหก และอาจจะเนื่องมาจากสาเหตุแรก คือ ยึดแบบเล่มใดเล่มหนึ่งโดยไม่ดูสภาพของผู้ทำเอง ทำให้ผิดพลาดได้
คำถามที่เคยพบบ่อย ๆ ก็คือ “ถ้าหนูทำอย่างนี้............แล้วจะเขียนว่าอย่างไรดีคะ” ผมก็ตอบรับว่า “ให้เขียนตามความจริงที่ทำมานั่นแหละดีที่สุด” ผู้ถามก็ทำหน้างง ๆ แล้วถามต่อว่า “มันจะดีหรือคะ” ผมก็ตอบว่า “ดีแล้ว” และตอบเพิ่มว่า “ คราวต่อไปถ้าไม่อยากเขียนตามที่ทำ ก็ต้องทำให้ได้ตามที่อยากจะเขียน”


3. ไม่ได้ทำเอง
     การทำผลงานโดยไม่ได้ทำเอง ซึ่งอาจจะเป็นทั้งการดำเนินการหรือเขียนโดยไหว้วานให้พรรคพวก เพื่อนฝูง สามีหรือภรรยาช่วยทำให้ และที่ร้ายแรงที่สุดคือ การจ้างให้ผู้อื่นทำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก การให้ผู้อื่นช่วยเหลือในการทำผลงานทางวิชาการนั้น ไม่ใช่เป็นข้อห้ามเสียทั้งหมด ถ้าช่วยในประเด็นที่ไม่เสียหาย เช่น ช่วยค้นคว้า พิมพ์ หรือแนะนำ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการช่วยทำหรือเขียนแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยเปล่า ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างด้วยราคาตามที่ตกลง การรับจ้างให้ผู้อื่นทำผลงานนั้น นอกจากผิดจริยธรรมทั้งคู่ เข้าทำนองฝนตกขี้หมูไหลคนจัญไรมาพบกัน แล้วยังมีข้อเสีย 6 ประการ ดังนี้
     ประการแรกแพง คือค่าจ้างทำผลงานทางวิชาการมักจะใช้เงินมากกว่าทำเองหลายเท่า โดยต้องใช้เงินหลักหมื่นหรือหลักแสน ซึ่งถ้าคิดในเชิงธุรกิจก็อาจจะคุ้ม เพราะเมื่อได้เงินประจำตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือนก็คุ้มทุน กว่าจะเกษียณก็กำไรหลายเท่า แต่จากประสบการณ์พบว่า เกือบทั้งหมดไม่เป็นเช่นนั้น ดังข้อเสียต่อไป
     ประการที่สองมักทำไม่เสร็จ เนื่องจากรับเงินล่วงหน้าไปครบแล้ว เข้าทำนองทำชั่วสองต่อมาล่อพวกเดียวกันเอง โดยมีข้ออ้างต่างๆ นาๆ เช่น ข้อมูลไม่ครบ อธิบายสาระสำคัญไม่ได้ ฯลฯ เข้าทำนองไม่มีสัจจะในหมู่โจร จะไปฟ้องร้องเอากับใครก็ไม่ได้เพราะกลัวอับอายหรือถูกสมน้ำหน้า
     ประการที่สามมักไม่ผ่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อการไม่ได้ทำเองแล้วเขียนนั้นยากที่จะเขียนให้ดีได้ แม้จะมีความสามารถเพียงใดก็ตาม และพึงระลึกไว้ว่าผู้ที่มีความสามารถสูงจริงจะไม่รับจ้างทำผลงานในราคาไม่กี่หมื่น เพราะไปทำอย่างอื่นได้ผลตอบแทนสูงกว่า และไม่ผิดจริยธรรมอีกด้วย
     ประการที่สี่แก้ไขเองไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้ทำหรือเขียนเอง ถ้าเกิดโชคดีผู้ตรวจให้ปรับปรุงแก้ไขก็ทำอะไรไม่ได้ จะติดต่อผู้รับจ้างก็แสนยาก เพราะบางรายบางคณะเดินสายรับจ้างมากจนแทบจำไม่ได้ว่าเคยรับจ้างใครไว้บ้าง และที่สำคัญคือ รับเงินค่าจ้างมาครบแล้ว ที่เหลือก็ช่วยตัวเองบ้างก็แล้วกัน ดังนั้น พอจะบากหน้าไปถามใครก็อายเขา เพราะอย่าว่าแต่จะถามรายละเอียดเลย บางรายชื่อเรื่องที่ส่งไปก็ยังจำไม่ได้
     ประการที่ห้าน่าละอาย การรับจ้างผู้อื่นนั้นสังคมทั่วไปอาจไม่รู้ แต่บุคคลใกล้ชิดย่อมรู้ได้ และต้องถูกนินทา ตำหนิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าโชคดีผ่านข้อเสียประการที่สามมาได้ คือ ผลงานผ่าน (มีโอกาสน้อยมาก) ก็จะยิ่งถูกประณามหรืออาจถูกร้องเรียนด้วยความหมั่นไส้ กลายเป็นทุกขลาภไปตลอดชีวิต ขาดความภาคภูมิใจ เสนอหน้าไปที่ไหนก็ไม่ได้ ถ้าใครเชิญให้บรรยายหรือขอคำแนะนำก็ต้องคอยหลบหลีกด้วยข้ออ้างต่าง ๆ เป็นที่น่าสมเพช
     ประการที่หกเด็กไม่ได้อะไร ซึ่งถือว่าสำคัญมาก กรณีนี้คือว่าจ้างทั้งดุ้นตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าเป็นวิจัยชั้นเรียนก็ไม่ได้นำไปใช้จริง ผู้เรียนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ใช้วิธียกเมฆ ยิ่งกว่าการสร้างหนังเสียอีก เพราะหนังบางเรื่องนำความจริงมาปรับให้สนุกขึ้น แต่ที่กล่าวมาเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด ผู้รับจ้างเขียนเอง เออเอง โดยเอาข้อมูลจากการบอกเล่าเล็กๆ น้อยๆ มาแต่งเติมให้เสร็จเพื่อจะเอาค่าจ้าง
     จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการจ้างให้ผู้อื่นทำผลงานมีข้อเสียที่สำคัญหลายประการ (อาจมากกว่านี้) แต่ก็ไม่วายยังได้ข่าวการว่าจ้างกันเสมอๆ บางรายก็กลับใจหันไปศึกษาใหม่ (หลังจากผลงานไม่ผ่านแล้ว) ซึ่งมักจะร้องอ๋อว่า รู้อย่างนี้ทำเองตั้งนานแล้วไม่เห็นจะยากอย่างที่พวกรับจ้างอ้างไว้เลย เวรกรรมจริงๆ เงินก็ไม่ค่อยมีต้องไปกู้สหกรณ์มาเป็นเหยื่อเขาเปล่าๆ
     สำหรับผู้รับจ้างนั้นส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูง บางคนอุตส่าห์ร่ำเรียนจนได้เป็นดอกเตอร์ แต่ด้วยความหน้ามืดอยากได้เงินโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี จริยธรรม และความถูกต้อง ก็หันมาเป็นมือปืนรับจ้าง บางคนอาจคิดว่าถอนทุนคืนที่ได้ร่ำเรียนมา ซึ่งยังมีวิธีหารายได้อย่างสุจริตและได้รับการยอมรับอีกมาก แต่อาจช้าไม่ทันใจ บางคนหนักเข้าไปอีกโดยคิดว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้บุญเสียอีก เป็นงั้นไป ซึ่งถ้าจะเอาบุญก็ไม่น่าจะเอาแบ๊งค์
     ผู้รับจ้างบางรายไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าทำ เพราะดูคุณวุฒิ ตำแหน่งแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ยิ่งกว่านั้นยังกล้าที่จะประชาสัมพันธ์การรับจ้างในที่สาธารณะหรือเวทีการฝึกอบรมต่างๆ อย่างเปิดเผยเป็นที่น่าอนาถยิ่งนัก บทความนี้หวังเหลือเกินว่าจะช่วยเปลี่ยนแนวคิดแก่ผู้เกี่ยวข้องได้หรือทุเลาลงมาบ้าง ถ้ายังมีการรับจ้างกันอีกก็ขอแช่งให้คันก้นตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ไปจนชั่วชีวิต