การทำผลงานทางวิชาการ เมื่อผ่านขั้นตอนคิดเพื่อตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ครบแล้ว ต่อมาก็เป็นขั้นตอนการเตรียม ซึ่งมีเคล็ดลับและเทคนิคต่าง ๆ 18 ประการ เท่ากับในขั้นตอนการคิด ซึ่งในขั้นตอนนี้ถ้ามีการเตรียมการตามเคล็ดลับ : เทคนิค จะเอื้อต่อขั้นตอนการทำและการตรวจต่อไปได้มาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด สำหรับในบทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละเคล็ดลับ : เทคนิค พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์ หรือเปรียบเทียบกับเรื่องราวต่าง ๆเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกับบทที่แล้ว โดยเรียงตามลำดับแต่ละเคล็ดลับ : เทคนิคในขั้นตอนการเตรียม ดังนี้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 19 กำหนดโครงสร้างและกรอบแนวคิดก่อน
ก่อนจะลงมือเขียนขั้นแรกสุด ต้องกำหนดโครงสร้างหรือกรอบก่อน ถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือ กำหนดสารบัญหรือโครงสร้างเนื้อหาทั้งหมดก่อน ถ้าเป็นงานวิจัยหรืองานประเมินโครงการ ก็เพียงแต่กำหนดสารบัญในบทที่ 2 เกี่ยวกับเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนบทอื่น ๆ จะมีโครงสร้างเหมือนกันจึงไม่ยุ่งยากนัก ส่วนกรอบแนวคิดนั้นถ้าเป็นการประเมิน ก็ควรกำหนดไว้ก่อนพร้อมกับโครงสร้างก่อนที่จะเริ่มเขียนในกรณีที่เป็นผลงานทางวิชาการประเภทเอกสารประกอบการสอนหรือตำรา สามารถจะกำหนดโครงสร้างของเนื้อหาได้จากคำอธิบายรายวิชา โดยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นหนังสือจะยุ่งยากกว่าเพราะผู้ทำต้องกำหนดเองทั้งหมด ถ้ามีผู้อื่นเขียนไว้บ้างก็อาจนำมาเป็นแนวทางได้ ถ้าไม่มีหรือมีแต่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ต้องริเริ่มกำหนดเอง ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรจนกว่าจะลงตัวตัวอย่างง่าย ๆ คือ หนังสือเล่มนี้ ต้องใช้เวลากำหนดโครงสร้างเนื้อหาพอ ๆ กับเวลาที่ใช้เขียนเลยทีเดียว เมื่อเขียนไปแล้วอาจมีการปรับแก้ได้บ้างตามความเหมาะสมถ้ามีคำถามว่าเขียนไปพลางก่อนแล้วค่อยกำหนดโครงสร้างหรือกรอบทีหลังได้หรือไม่ ตอบว่าได้แต่ยุ่งยากเสียเวลามาปรับแก้ภายหลัง มากกว่าเวลาที่ใช้กำหนดโครงสร้างแน่ เหมือนกับยังไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหนแต่เริ่มออกเดินไปพลาง ๆ ก่อน อาจต้องอ้อมหรือหลงไปเลยก็ได้หรือเหมือนกับสร้างบ้านโดยไม่มีแปลน ผู้เขียนเองเคยลองแล้วเฉพาะบางบท พบว่าได้ไม่เท่าเสีย เพียงแต่อาจปลอบใจตัวเองได้เท่านั้นว่างานได้เริ่มแล้ว ทั้ง ๆ ที่เห็นอุปสรรคอยู่ข้างหน้าเพราะเหมือนสร้างบ้านขาดแปลน หรือเข้าป่าขาดเข็มทิศนั่นเอง
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 20 ให้ผู้รู้ช่วยตรวจโครงสร้างและกรอบแนวคิด
เมื่อกำหนดโครงสร้างและกรอบแนวคิดด้วยตนเองเสร็จแล้ว เพื่อความมั่นใจควรให้ผู้รู้ช่วยตรวจดูก่อนอีกครั้งก่อนจะเริ่มลงมือเขียน คำว่าผู้รู้อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยว ชาญ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะทำ ถ้าให้ดูหลายคนก็อาจแบ่งเป็นผู้รู้ในทางทฤษฎี และผู้รู้ในทางปฏิบัติเป็นต้น แต่ต้องระวังเรื่องความสอดคล้องกัน เพราะถ้ามีความเห็นต่างกันก็ควรหาจุดที่ลงตัวให้ได้ในการให้ผู้รู้ช่วยตรวจดังกล่าว อาจมีคำถามว่าผู้ทำมีความรู้ความชำนาญแล้วจำเป็นหรือไม่ ตอบว่าถ้าให้ช่วยตรวจได้ก็จะดี เพราะมีโอกาสไม่ครอบคลุมหรือนึกอะไรไม่ถึงอยู่บ้างเสมอ เข้าทำนอง “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ว่าแม้จะเขียนโครงสร้างหรือกรอบครอบคลุมอย่างไร ก็ยังมีข้อบกพร่องบ้างเสมอลักษณะดังกล่าว เช่นเดียวกับการตรวจเครื่องมือเก็บข้อมูลในการวิจัยหรือประเมิน จากที่ผู้เขียนทำประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อร่างแบบสอบถามเสร็จก็ให้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและที่ขาดไม่ได้คือ สมาชิกและคณะกรรมการพร้อมทั้งประธานกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อคำถามข้อหนึ่งที่ว่า “จำนวนสมาชิกของกองทุนที่เพิ่มขึ้น” โดยให้ตอบได้5 ระดับ คือ มากที่สุดจนกระทั่งน้อยที่สุด ผ่านการตรวจว่าเหมาะสมจากนักวิชาการแล้ว แต่ได้รับการทักท้วงจากประธานกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่งว่า ข้อนี้บางกองทุนตอบไม่ได้แน่เพราะสมัครเป็นสมาชิกทั้งหมู่บ้านแล้ว คงเพิ่มไม่ได้อีก สุดท้ายก็ต้องตัดออก สรุปได้ว่าถ้าให้ผู้ตรวจไม่ครบทุกกลุ่มจะพลาดได้เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มที่จะเป็นผู้ตอบจริง
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 21 เชื่อคนแนะให้ทำมากดีกว่า
ในกรณีที่ให้ผู้รู้ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ช่วยตรวจโครงสร้างและกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าแนะนำให้ทำต่างกันก็ควรพิจารณาผู้ที่แนะนำให้ทำมากกว่าว่า ส่วนที่มากกว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่ เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำหรือไม่ ถ้าไม่ซ้ำซ้อนและเกี่ยวข้องแล้วควรจะทำตาม เพื่อให้ได้ผลงานที่ครอบคลุม ต่อมาเมื่อภายหลังพิจารณาเห็นว่าอาจมีส่วนไม่จำเป็นบ้างก็ค่อยตัดออกจากประสบการณ์ในฐานะสอนวิชาวิจัย และเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มักพบว่า นักศึกษาซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษา2 คน เมื่ออาจารย์ทั้ง 2 คน แนะนำให้ทำมากน้อยต่างกันนักศึกษาส่วนใหญ่พยายามจะยึดคนที่แนะนำน้อย เพื่อจะได้ทำงานง่าย ๆ ซึ่งขัดกับเคล็ดลับเทคนิคก่อนหน้านี้ที่ว่า“ทำยากจะใช้ประโยชน์ได้นาน” นอกจากจะยึดอาจารย์ที่แนะนำน้อยแล้ว ก็จะพยายามโน้มน้าวให้อาจารย์อีกท่านที่แนะนำมาก ให้เห็นด้วยว่าทำน้อยเหมาะสมกว่า ยิ่งถ้ารู้ว่าอาจารย์ที่แนะนำมาก เกรงใจอาจารย์ที่แนะนำน้อยด้วยแล้วก็ยิ่งเข้าทางหรือพาลไม่ไปหาคนที่แนะนำมากเลย ทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยให้ตรวจ เพราะจะสั่งให้เพิ่มก็คงลำบากเข้าทำนองมัดมือชก สุดท้ายผลเสียก็จะตกกับนักศึกษาเองทั้งความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ไม่เต็มที่ และติดนิสัยต่อรองเพื่อความสบาย เข้าทำนองเอาง่ายไว้ก่อนพ่อสอนไว้นอกจากนี้เท่าที่พบคือ การแนะนำให้ข้ามขั้นตอนเช่นไม่จำเป็นต้องทดลองใช้เครื่องมือก่อนทั้ง ๆ ที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผู้ทำผลงานก็เห็นด้วย ถือว่าลดภาระ ต่อเมื่อส่งไปให้ผู้ตรวจอ่านซึ่งต้องยึดหลักตามระเบียบวิธีวิจัย และเห็นว่าเครื่องมือดังกล่าวสามารถทดลองใช้ตามขั้นตอนได้แต่ไม่ทำ ข้อมูลที่ได้อาจขาดความเที่ยงตรง ซึ่งส่งผลต่อความรู้ที่ได้จากการวิจัย สุดท้ายก็ไม่ให้ผ่าน เพราะปัญหาเรื่องเครื่องมือวิจัยเป็นสิ่งที่แก้ไขย้อนหลังไม่ได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 22อย่าคอยของฟรี
ของฟรีใคร ๆ ก็ชอบแต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ของฟรีไม่มีในโลก ต้องแลกด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ แม้ว่าการทำผลงานต้องลงทุนบ้างแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่ของแพง ค่าพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน อุปสรรคประการแรกที่ต้องคอยของฟรีคือ เลือกไม่ได้ มีอะไรก็ต้องเอาเท่าที่มี บางครั้งก็ต้องคอย เช่น ถ้าจะใช้กระดาษของหน่วยงานก็ต้องคอยให้ได้จังหวะที่เหมาะ ดูว่าเจ้านายหรือผู้เกี่ยวข้องไม่อยู่ หรือใช้เครื่องพิมพ์ก็ต้องคอยให้ว่าง เป็นต้นทำให้เสียเวลาในการทำผลงาน ซึ่งพบว่ามักช้ากว่ากำหนดเสมอ ซึ่งจะกล่าวถึงในเคล็ดลับ : เทคนิคที่ 36 ในบทนี้ต่อไปที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าห้ามโดยเด็ดขาด บางครั้งถ้าจำเป็นและเร่งด่วน ก็อาจต้องใช้บ้างแต่ไม่ใช่ตั้งเป้าไว้ว่าต้องของฟรีเท่านั้น จะกลายเป็นทำไม่ทัน เข้าทำนอง เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือผู้เกี่ยวข้องจะรังเกียจเห็นแล้วรีบหลบ บ่น นินทา หรือถึงขั้นขัดใจกันได้ โดยรวมแล้วเห็นว่าไม่คุ้ม การพิมพ์ก็เช่นเดียวกันถ้าใช้ลูกน้องหรือเจ้าหน้าที่อาจไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายน้อย แต่อย่าลืมว่า เจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดหรือเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลก็เป็นคนธรรมดา มีเหนื่อย มีล้า ทำงานในหน้าที่ปกติมาทั้งวันกลับถึงบ้านก็ต้องการพักผ่อน ดูละครด้วยเช่นกัน ต้องมาพิมพ์งานอีก สมองก็ล้า เวลาก็น้อย จะพิมพ์ที่ทำงานก็เกรงว่างานประจำไม่เสร็จ ฯลฯ เห็นทีจะพิมพ์ให้เร็วและดีได้ยากถ้าเป็นไปได้ควรหาคนที่พิมพ์ได้เต็มเวลาจะเหมาะกว่า
เคล็ดลับ: เทคนิคที่23เตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่มีคุณภาพ
เมื่อเห็นว่า การคอยของฟรีอาจได้ไม่เท่าเสียแล้วก็ต้องเตรียมซื้อหรือจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆไว้ให้พร้อม ตั้งแต่ปากกา กระดาษ น้ำยาลบคำผิด กรรไกรที่เย็บกระดาษ คลิป แผ่นซีดี สมุดบันทึก และถ้าเป็นไปได้ควรมีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ด้วยก็ยิ่งดีวัสดุอุปกรณ์บางอย่างต้องเลือกให้เหมาะสม เช่นปากกา คนที่เขียนเร็ว ๆ ก็ใช้ปากกาที่ลื่น จะเขียนได้เร็วตามใจนึก ถ้าได้สีเข้มมาก ๆ ก็จะดี เพราะอ่านตรวจได้ชัดคนพิมพ์ก็สะดวก ปากกาควรมีหลายสีสำหรับร่าง เพิ่มเติมหรือแก้ไขเพื่อให้เห็นความแตกต่างได้ชัด ไม่ควรใช้ดินสอเพราะจะอ่านได้ไม่ชัดและต้องคอยเหลาเป็นระยะ ๆ เสียจังหวะการเขียน ดินสอที่ได้รับแจกจากการเข้าประชุมอบรม สัมมนาต่าง ๆ นั้นให้ลูกใช้หรือเก็บไว้จะเหมาะกว่าสำหรับสมุดบันทึกถือว่ามีความจำเป็น ใช้บันทึกเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำผลงาน เช่น หมายเลขโทรศัพท์ของร้านหนังสือ ร้านถ่ายเอกสาร ห้องสมุด ผู้รู้ฯลฯ การจะปรับแก้เนื้อหาต้องค้นคว้าอะไรเพิ่มเติม ข้อสงสัยต่าง ๆ คำตอบที่ได้ ประเด็นที่นึกออก ฯลฯ พูดง่าย ๆ ว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องควรจดบันทึกไว้วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ซื้อควรเป็นของดีมีคุณภาพจึงจะคุ้มค่า โดยเพิ่มเงินเพียงเล็กน้อยเพียงประมาณร้อยละ 10 - 20 เท่านั้น เช่น กระดาษควรใช้ขนาด 80 แกรมและมีความมัน ถ้าใช้กระดาษบางและหยาบ เมื่อพิมพ์ออกมาจะม้วนงอเหมือนปลาหมึกย่าง ตอนเขียนก็จะฝืด ๆถ้าใช้ของสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นกระดาษ 70 แกรม คงไม่สามารถใช้สมการทางคณิตศาสตร์ซื้อเพิ่มเองอีก 10 แกรมได้ ส่วนเครื่องพิมพ์ (Printer) ควรใช้ชนิดเลเซอร์ ตัวพิมพ์จะคมชัด ปัจจุบันราคาเพียง 4 - 5 พันบาทเท่านั้น ถ้าเห็นว่าไม่คุ้มก็อาจไปพิมพ์ที่ร้านซึ่งรับให้บริการราคาประมาณหน้าละ1 - 3 บาท เท่านั้น
เคล็ดลับ: เทคนิคที่24เตรียมซื้อพจนานุกรม
การทำผลงานทางวิชาการ ต้องใช้ภาษาเขียนซึ่งจะกล่าวถึงในบทความต่อไป เป็น เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 45ภาษาเขียนที่ใช้ควรถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พจนานุกรม หรือเมื่อมีการอ้างอิงความหมายต่าง ๆตัวอย่างดังที่ได้อ้างอิงความหมายของคำว่าวิชาการตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือเล่มนี้แล้ว ดังนั้น จึงควรซื้อพจนานุกรมส่วนตัวไว้ เพราะซื้อเพียงครั้งเดียวก็อาจใช้ไปได้จนถึงเกษียณเนื่องจากเกือบ 20 ปี ราชบัณฑิตจึงจะพิมพ์เล่มใหม่ขึ้นครั้งหนึ่งนอกจากจะใช้พจนานุกรมเล่มหลักแล้ว อาจซื้อพจนานุกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามสาขาวิชาที่ทำผลงานต่างหากด้วย ซึ่งในที่นี้นำรายชื่อพจนานุกรมบางส่วนจากการรวบรวมของผู้ทรงคุณวุฒิ (ปรีชา ช้างขวัญยืน (บก.),2550 : 141-142) เช่น พจนานุกรมศัพท์คณิตศาสตร์ พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ศัพท์คอมพิวเตอร์ ศัพท์ดนตรีไทย ศัพท์รัฐศาสตร์ศัพท์วรรณคดีไทย ศัพท์วิทยาศาสตร์ และศัพท์วิศวกรรม เป็นต้น ซึ่งหาซื้อได้จากศูนย์หนังสือชั้นนำหรือสั่งทางเว็บไซต์ก็ได้
เคล็ดลับ: เทคนิคที่25เตรียมคู่มือเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรม
เนื่องจากการทำผลงานทางวิชาการ ต้องมีการอ้างอิงและลงรายการบรรณานุกรมเสมอ บางหน่วยงานจึงได้อำนวยความสะดวกแก่บุคลากรในสังกัด โดยจัดทำคู่มือการอ้างอิงและลงรายการบรรณานุกรม รวมทั้งข้อแนะนำอื่น ๆ ให้ด้วย ก็สามารถใช้ตามคู่มือนั้นได้เลย แต่บางหน่วยงานก็ไม่ได้กำหนดตายตัว เพียงแต่แนะนำว่าให้ใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งให้เหมือนกันตลอดทั้งเล่ม ซึ่งผู้ทำผลงานก็ต้องหามาเอง ผู้ที่เคยทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนมาก็อาจใช้แนวเดิมตามสถาบันที่เรียน ผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ก็ต้องหาคู่มือดังกล่าวมาการหาคู่มืออ้างอิงและบรรณานุกรม อาจใช้ของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นหลัก โดยพิจารณาจากพื้นที่หรือที่อยู่ปัจจุบันว่าอยู่ในเขตให้บริการของสถาบันอุดมศึกษาใดบ้างเมื่อทราบแน่ชัดแล้วก็ควรยึดของสถาบันนั้น ๆ เป็นหลักโดยอาจขอ หรือยืม หรือถ่ายเอกสารจากนักศึกษาที่มีคู่มือหรือติดต่อกับบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันการศึกษา เพื่อขอความอนุเคราะห์ เพราะคู่มือเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่วางจำหน่ายแต่ผลิตไว้เพื่อให้นักศึกษาในสังกัดเท่านั้น
เคล็ดลับ: เทคนิคที่26เตรียมหาที่เงียบๆ
การเขียนผลงานทางวิชาการต้องใช้สมาธิสูง จึงจำเป็นต้องใช้สถานที่เงียบ ถ้าผู้ทำมีสมาชิกครอบครัวน้อยก็โชคดีไม่มีอุปสรรค แต่ถ้ามีสมาชิกครอบครัวหลายคนและมีเด็กเล็ก ๆ ด้วยก็ไม่สะดวก หรือบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นย่านจอแจมีเสียงรบกวนมากก็ไม่ค่อยเหมาะ ยกเว้น เคยชินกับสภาพดังกล่าวแล้วถ้ามีอุปสรรคข้างต้นก็ควรหาที่เงียบ ๆ ไว้สำหรับเขียน ที่เหมาะที่สุดน่าจะเป็นห้องสมุดของหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถ้าอยู่ไม่ไกลนัก เพราะนอกจากจะเงียบสงบแล้วยังมีเครื่องปรับอากาศและเอกสารต่าง ๆให้ค้นคว้า รวมทั้งอาจจะขอคำแนะนำต่าง ๆ จากบรรณารักษ์ได้อีกด้วยอย่างไรก็ตามสถานที่ราชการก็มีวันหยุดหรือเวลาทำการ จึงควรหาสถานที่สำรองไว้ด้วย เผื่อว่าจำเป็นเร่งด่วนต้องเขียนให้เสร็จตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น คนพิมพ์จะว่างในช่วงนี้ หรือผู้รู้ที่จะช่วยตรวจให้จะไปต่างประเทศเป็นเวลานานผู้ทำผลงานเองจะต้องไปอบรม หรือจะมีงานมากในช่วงต่อไป ฯลฯ
เคล็ดลับ: เทคนิคที่27เตรียมหาคนพิมพ์
ผลงานทางวิชาการจะมีข้อกำหนดต่าง ๆ ในการพิมพ์อาจเรียกว่า รูปแบบหรือฟอร์แมทมากกว่าการเขียนอื่น ๆทำให้ยุ่งยากมากกว่า จึงควรหาคนพิมพ์ที่ชำนาญกับการพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ดีกว่าจะหาคนพิมพ์ทั่วไป เพราะนอกจากจะทำให้ผิดพลาดน้อยแล้ว ยังอาจเสนอแนะสิ่งต่างๆจากประสบการณ์ ที่เคยพิมพ์ผลงานก่อนหน้ามาแล้วได้อีกด้วยเพื่อความมั่นใจจึงควรติดต่อไว้ล่วงหน้า หรืออย่างน้อยก็ก่อนเขียนเสร็จ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าเร่งเขียนแทบตายไม่วายมาช้ากับคนพิมพ์การหาคนพิมพ์มีความชำนาญ และทำงานได้เต็มเวลา แม้จะต้องจ่ายค่าจ้างแพงกว่าบ้างก็คงไม่หนักหนาเพราะปริมาณผลงานประมาณ 100 หน้า ถ้าคิดว่าแพงกว่าหน้าละ 5 บาท ก็จ่ายเงินเพิ่มเพียง 500 - 1000 บาท แลกกับความถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งไม่ต้องเหนื่อยในการตรวจแก้ นอกจากจะหาคนพิมพ์หลักแล้ว ควรสำรองไว้ด้วยเพื่อป้องกันอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น การที่ให้หาคนพิมพ์นั้นเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่จะพิมพ์เอง ยกเว้นผู้ที่เขียนด้วยการพิมพ์ไปในตัว เพราะถ้าพิมพ์เองอาจจะช้าโดยเฉพาะผู้สูงวัย หาแป้นอักษรไม่ค่อยเจอ อักษรบางตัว เช่น ฒ หรือ ฬ ต้องหาเกือบครึ่งชั่วโมง แบบนี้ก็ไม่ไหว สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า
เคล็ดลับ: เทคนิคที่28เตรียมเลือกตัวพิมพ์
ตัวพิมพ์ปัจจุบันในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีให้เลือกมากแบบ ถ้าหน่วยงานต้นสังกัดไม่กำหนดไว้ แต่บางหน่วยงานก็กำหนดไว้ว่าต้องใช้ตัวอักษรแบบอังสนา นิว บางหน่วยงานก็กำหนดให้ใช้ตัวอักษรแบบคอเดีย ยูพีซี ซึ่งก็ต้องแจ้งคนพิมพ์ให้ทราบก่อนที่จะลงมือพิมพ์เพราะไม่เช่นนั้นต้องเสียเวลามาปรับแก้ภายหลัง ส่วนขนาดตัวอักษรโดยทั่วไป
ในการพิมพ์เนื้อหากำหนดขนาด 16 ยกเว้นในภาพหรือตารางหรือในส่วนประกอบอื่นๆ เช่น บทเรียนสำเร็จรูป หรือแบบฝึกทักษะ สำหรับเด็กเล็กๆ สามารถใช้ ขนาดอักษรที่เหมาะสมได้ ซึ่งในกรณีไม่กำหนดแบบอักษร สามารถเลือกได้ดังตัวอย่าง
ผลงานทางวิชาการ (Browallia New)
ผลงานทางวิชาการ (Browallia UPC)
ผลงานทางวิชาการ (Angsana New)
ผลงานทางวิชาการ (Angsana UPC)
ผลงานทางวิชาการ (Cordia New)
ผลงานทางวิชาการ (Diilenia UPC)
ผลงานทางวิชาการ (Freesia UPC)
เคล็ดลับ: เทคนิคที่29เตรียมหาผู้ช่วยงานอื่นๆ
ในระหว่างการทำผลงานทางวิชาการ ต้องทุ่มเทเวลาในการเขียนให้ได้มากที่สุด โดยลดภารกิจอื่น ๆ ให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เช่น การออกไปหาซื้ออาหาร จ่ายค่าบัตรเครดิต ถอนเงิน ถ่ายเอกสาร คืนหนังสือ ซื้อกระดาษฯลฯ ถ้ามีคนใกล้ชิดในครอบครัวก็ให้ช่วยได้สะดวก ถ้าไม่มีก็อาจไหว้วานว่าจ้างใครช่วย เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียเวลา นอกจากจะเสียเวลาในการออกไปทำภารกิจต่างๆ แล้ว ยังอาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาทำให้หงุดหงิดได้ง่าย โดยเฉพาะตัวผู้ทำผลงานเองซึ่งกำลังเครียด เขียนค้างไว้ทำให้เสียจังหวะ แต่ก็ต้องรีบออกไปให้ทันเวลาก่อนที่ธนาคาร ศูนย์การค้า หรือร้านถ่ายเอกสารจะปิด เมื่อต้องรอนานก็พาลให้รำคาญใจ หงุดหงิด อาจมีปากเสียงกับผู้ที่ติดต่อด้วยได้ง่าย กลับมาก็เลยไม่ได้เขียนต่อเพราะมัวแต่โมโห ดังนั้นจึงควรหาผู้ช่วยไว้ทำหน้าที่แทนชั่วคราวจนกว่าจะเขียนเสร็จ
เคล็ดลับ: เทคนิคที่30ลดภาระประจำ
จากที่กล่าวมาในเคล็ดลับ : เทคนิคที่ 29 นั้น เป็นภารกิจเฉพาะครั้งคราว ซึ่งจะไหว้วานหรือว่าจ้างใครได้ไม่ยากนัก แต่ในกรณีภาระประจำ เช่น ดูแลสวน ทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูก ถือเป็นภาระประจำที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งต้องหาคนทำหน้าที่แทนไปพลาง ๆ ก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้หมด หรือเหลือน้อยที่สุด จะได้มีเวลาให้กับการทำผลงานเต็มที่ ซึ่งต้องลงทุนบ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ที่มีลูกโต ๆ แล้วก็ช่วยแบ่งเบาภาระได้ง่าย บางครั้งอาจช่วยค้นคว้า ตรวจทาน เสนอแนะ หรือพิมพ์ให้ได้ด้วยภาระประจำที่สำคัญที่สุดก็คือ การเลี้ยงลูกที่ยังเล็กถ้าสามารถนำไปฝากปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติสนิทไว้ชั่วคราวได้ก็จะดี ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาพี่เลี้ยง จากวิธีลดอุปสรรคของเพื่อนคู่หนึ่ง ซึ่งมีลูกเล็ก 2 คน ใช้วิธีนอนตั้งแต่หัวค่ำแล้วตื่นมาช่วงประมาณตี 2 หรือตี 3 ขณะที่ลูกทั้งคู่ยังคงหลับอยู่ก็จะมีเวลาประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง เมื่อลูกตื่นมาก็กำลังล้าพอดี ใครที่มีอุปสรรคดังกล่าวก็ลองใช้วิธีนี้ดู
เคล็ดลับ: เทคนิคที่31คุยกับคนอื่นบ้าง
เมื่อเริ่มคิดจะทำผลงานทางวิชาการ ควรคุยกับคนอื่นถึงงานของเราบ้าง เผื่อว่าจะได้แนวคิด เคล็ดลับเทคนิคต่าง ๆ จากผู้ที่เคยมีประสบการณ์หรือกำลังทำอยู่เช่นกัน หรือแม้แต่คนทั่วไปซึ่งมีความคิดดี ๆ ก็อาจช่วยได้ถ้าช่วยเรื่องผลงานโดยตรงไม่ได้ก็อาจช่วยเรื่องอื่นๆ ฝากฝังภาระบางอย่างดังกล่าวมาแล้ว ที่พบบ่อยก็คือมักจะแนะนำให้ไปหาคนที่ช่วยได้ หรือจัดหาคนมาแบ่งเบาภาระให้เป็นต้น การพูดคุยกับคนอื่น ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะดึงความรู้จากเราไปดังกล่าวมาแล้วว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ บางครั้งอาจได้อะไรดี ๆ ในลักษณะเส้นผมบังภูเขาได้ คือ แว่บขึ้นมาในความคิด ผู้เขียนเองก็เคยได้หัวข้อวิจัยจากการพูดคุยสนุกๆกับเพื่อน และหนังสือบางเล่มที่เขียนก่อนเล่มนี้ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้อย่างบังเอิญโดยไม่เคยคิดมาก่อน เพียงแต่พูดคุยกันในวงสนทนาเท่านั้น แต่การพูดคุยที่ได้ผลนั้นไม่ควรใช้เวลามากเกินไป หรือเป็นการบ่นถึงอุปสรรคที่อาจทำให้คู่หรือวงสนทนารำคาญได้
เคล็ดลับ: เทคนิคที่32ผูกมิตรกับผู้เกี่ยวข้อง
การทำผลงานทางวิชาการจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่จะช่วยให้งานเสร็จได้เร็วและสมบูรณ์ได้ เช่น บรรณารักษ์ร้านถ่ายเอกสาร ร้านขายหนังสือ เป็นต้น ควรทำความรู้จักและผูกมิตรไว้ การยืมหนังสือบางครั้งต้องยืมเกินจำนวนที่กำหนด หรือยืมออกไปถ่ายเอกสารที่อื่น อาจร้องขอโดยแจ้งเหตุผลและความจำเป็น หรือถ้าค้นคว้าไม่ชำนาญต้องเสียเวลาหรือถ้าหาหนังสือเล่มที่ต้องการไม่เจอก็ควรให้บรรณารักษ์ช่วยสำหรับร้านถ่ายเอกสารก็เช่นเดียวกัน บางครั้งเป็นเรื่องด่วนอาจต้องลัดคิวคนอื่นที่ไม่รีบ ถ้าผูกมิตรและมีน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงจะช่วยได้ หรือในกรณีที่ต้องไปค้นคว้าจากส่วนกลาง ซึ่งมักเป็นห้องสมุดหรือสำนักวิทยบริการของมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าจะถ่ายเอกสารหลายเล่มมักต้องคอยรับวันถัดไปหรือวันอื่น ๆ ก็ควรแจ้งถึงความจำเป็นว่ามาจากต่างจังหวัด ต้องรีบกลับเพราะลาได้ถึงวันนี้ ซึ่งถ้างานด่วนมีไม่มากเจ้าของร้านก็มักจะใช้วิธีให้สาขาอื่น ๆ ของร้านแบ่งกันถ่ายได้ทันเสมอ ส่วนร้านหนังสือก็อาจไปอ่านหรือให้สั่งหนังสือที่ต้องการให้ได้
เคล็ดลับ: เทคนิคที่33ถ่ายเอกสารให้ครบ
การค้นคว้าเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเขียนนั้นบางครั้งต้องใช้วิธีการถ่ายเอกสาร เพราะหาซื้อหรือหยิบยืมใครไม่ได้ การถ่ายเอกสารมีทั้งถ่ายทั้งเล่มและถ่ายบางส่วนถ้าถ่ายทั้งเล่มก็ไม่มีปัญหา แต่บางคนเน้นความประหยัดเลือกถ่ายเป็นช่วง ๆ เช่น หน้า 1 – 10, 13 - 15, 21 - 22, 28,31 - 40 .... การถ่ายเช่นนี้ถ้าเห็นว่าเกินครึ่งเล่มก็ควรถ่ายทั้งหมดจะดีกว่า เพราะนอกจากจะประหยัดได้ไม่เท่าไรแล้วยังมีโอกาสถ่ายผิดได้อีกด้วยอีกกรณีหนึ่ง คือ อยากจะถ่ายทั้งเล่มแต่เห็นว่าบางหน้าไม่จำเป็น เช่น สารบัญ ภาคผนวก ฯลฯ ซึ่งถ้าหักค่าถ่ายแล้วเป็นเงินเพียงเล็กน้อยก็ควรถ่ายให้ครบ เพื่อจะได้หนังสือที่สมบูรณ์ และที่สำคัญคือ อย่าลืมถ่ายหน้าที่ใช้อ้างอิงไว้ด้วยถ้าไม่ถ่ายก็ต้องจดไว้มิฉะนั้นจะอ้างอิงหรือลงบรรณานุกรมไม่ได้ต้องเสียเวลากลับมาค้นหาย้อนหลัง ถ้าหาได้ก็เพียงแต่เสียเวลา แต่ถ้าหาไม่ได้สุดท้ายอาจต้องตัดรายการที่อ้างอิงไว้ออก ซึ่งไม่ใช่ตัดออกได้เลยจะต้องมีการเรียบเรียง สรุปวิเคราะห์ สังเคราะห์ใหม่ รวมทั้งเหลือข้อมูลน้อยลงอีกด้วย
เคล็ดลับ: เทคนิคที่34ซื้ออาจถูกกว่ายืม
การยืมสิ่งที่ต้องใช้ในการทำผลงานทางวิชาการ ที่สำคัญที่สุด คือ หนังสือ ซึ่งถ้ายืมจากเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักกันก็อาจไม่มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้กำหนดเวลาที่ต้องคืนไว้แต่ถ้าเป็นการยืมจากห้องสมุดจะต้องคืนตามกำหนด มิฉะนั้นก็จะถูกปรับเป็นรายวัน ซึ่งบางครั้งเงินค่าปรับแพงกว่าค่าหนังสือที่ยืมก็มี ดังนั้น ถ้าเป็นหนังสือที่จำเป็นต้องใช้ และยังวางจำหน่ายก็ควรซื้อไว้เป็นสมบัติส่วนตัวจึงเหมาะกว่าเมื่อพบนักศึกษาบางครั้งก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง มาธุระอะไร นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชายจะตอบว่าเอาหนังสือมาคืนที่ห้องสมุด จากที่เคยสอนทราบมาว่าอยู่อีกจังหวัดหนึ่งห่างจากมหาวิทยาลัยเกือบ 200 กิโลเมตรก็เลยถามต่อไปว่ามาจากโน่นเลยเหรอ นักศึกษาตอบว่าครับ ผู้เขียนก็เลยยิ้ม ๆ และถามว่าหนังสือที่จะนำมาคืนมีอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด นักศึกษาตอบว่ามี 3 เล่ม คือ หนังสือ......................... ซึ่งผู้เขียนก็มีหนังสือดังกล่าว คิดราคารวมกันทั้ง 3 เล่ม เพียง 700 กว่าบาท แต่ค่าน้ำมันไปกลับในยุคน้ำมันแพงอย่างนี้คง 1,000 กว่าบาท แพงกว่าค่าหนังสือเสียอีก นี่ยังไม่รวมที่ต้องเสียเวลา จึงควรซื้อดีกว่า ยกเว้นว่ามีวัตถุประสงค์อื่นหรือกำลังแอบชอบบรรณารักษ์ หรือจะผูกมิตรดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ก็แล้วไป
เคล็ดลับ: เทคนิคที่35เตรียมอุปกรณ์ไว้ที่หัวเตียง
การทำผลงานทางวิชาการยกเว้นตอนนอนหลับสนิทแล้วสามารถทำได้ตลอดเวลา เพราะนอกจากการเขียนแล้วยังต้องมีการคิด ตัดสินใจ ทบทวน ฯลฯ อีกด้วย บางครั้งก่อนจะหลับอาจมีการคิดทบทวนและนึกอะไรขึ้นมาได้ก็ควรจะจดบันทึกไว้ ถ้าห้องนอนกับห้องทำงานไกลกันก็อาจขี้เกียจเดินออกมาหรือเกรงใจว่าจะรบกวนคนที่นอนด้วย ต่อมาภายหลังอาจลืมได้ จึงควรเตรียมสมุดบันทึก ปากกาพร้อมทั้งโคมไฟ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ไว้ที่หัวเตียงด้วยถ้าท่านสังเกตเมื่อพักที่โรงแรม ก็จะพบกระดาษบันทึกและดินสอที่โรงแรมจัดไว้ให้ เมื่อมีใครโทรศัพท์เข้ามาและจำเป็นต้องจดบันทึกก็จะได้ใช้ได้ทันท่วงที เช่นเดียวกันกับการทำผลงาน บางครั้งมีผู้โทรศัพท์เข้ามาช่วงที่กำลังนอนอยู่ก็จะหยิบใช้ได้ทัน นอกจากนี้ที่สำคัญ คือ เมื่อตื่นขึ้นซึ่งถ้าเป็นผู้สูงวัยหน่อยอาจเป็นช่วงตี 4 ตี 5 มักจะนึกอะไรออกจะได้จดบันทึกทันที แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็ไม่ได้บันทึกไว้คิดว่าไม่เป็นไรคงจำได้ สุดท้ายถ้านอนต่อเมื่อตื่นมาอีกครั้งมักจะลืมเสมอ
เคล็ดลับ: เทคนิคที่36เผื่อเวลาไว้บ้าง
แม้ว่าท่านได้ผ่านขั้นตอนการคิดมาอย่างรอบคอบและเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เท่าที่พบงานที่คาดว่าจะเสร็จเวลานั้นเวลานี้ เกือบทั้งหมดมักช้ากว่ากำหนดเสมอ น้อยรายที่จะเสร็จทัน ผู้เขียนเองก็เช่นกันยิ่งคอยของฟรีก็จะยิ่งช้า ดังนั้น จึงควรเผื่อเวลาไว้บ้างเหตุการณ์ดังกล่าวจะคล้ายกับการซ่อมรถ หรือสร้างบ้าน ดังที่พบเห็นกันโดยทั่วไป ซึ่งน้อยรายมากที่จะทำทันหรือเสร็จก่อนกำหนด มักจะล่าช้ากว่ากำหนดเสมอบางรายเมื่อเห็นว่าไม่ทันแน่แล้ว ก็พาลหยุดหรือทิ้งงานเอาดื้อ ๆ ปล่อยให้เจ้าของรถหรือเจ้าของบ้านเผชิญกับวิบากกรรมที่ไม่ได้ก่อขึ้นต่อไปตามลำพัง ผลงานทางวิชาการก็เช่นกัน บางรายถึงกับส่งไม่ทันตามกำหนด บางรายก็ต้องฝืนส่งทั้ง ๆ ที่ยังเสร็จไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้เผื่อเวลาถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว