[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by ATOMYMAXSITE 2.5
เว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้เรื่องวิจัย ประเมินโครงการ และผลงานทางวิชาการ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

ยินดีต้อนรับคุณ บุคคลทั่วไป  
Your IP 3.236.207.90   
English Chinese (Simplified) Chinese (Traditional) French German Italian Japanese Korean Portuguese Russian Spanish Vietnamese Thai     
ค้นหา   
เมนูหลัก
หลักสูตรฝึกอบรม
เว็บลิงค์น่าสนใจ
สถิติผู้เยี่ยมชม

 เริ่มนับ 11/ส.ค./2556
ผู้ใช้งานขณะนี้  IP
ขณะนี้
คน
สถิติวันนี้
คน
สถิติเมื่อวานนี้ี้
คน
สถิติเดือนนี้
คน
สถิติปีนี้
คน
สถิติทั้งหมด
คน
IP ของท่านคือ 3.236.207.90
(Show/hide IP)
ระบบสมาชิก
Username :
Password :
[ สมัครสมาชิก ] | [ ลืมรหัสผ่าน ]
สมาชิกทั้งหมด 311 คน
สมาชิกที่กำลังออนไลน์ 0 คน

  

  หมวดหมู่ : บทความทางวิชาการ
เรื่อง : เคล็ดลับ : เทคนิคในขั้นตอนการทำ
โดย : admin
เข้าชม : 19755
อาทิตย์ ที่ 11 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2556 ปักหมุดและแบ่งปัน
     

เคล็ดลับ : เทคนิคในขั้นตอนการทำ
ขั้นตอนการทำ ถือเป็นขั้นตอนที่ผู้ทำผลงานทางวิชาการต้องใช้เวลามากที่สุด จึงมีเคล็ดลับ : เทคนิคต่าง ๆมากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ เท่าที่รวบรวมได้มีถึง 34 ประการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเขียน เริ่มตั้งแต่ลงมือทำหรือลงมือเขียน โดยใช้เคล็ดลับ : เทคนิคต่าง ๆ ประกอบ จนกระทั่งเขียนเสร็จ เพื่อเตรียมนำไปสู่ขั้นตอนการตรวจต่อไป สำหรับในบทนี้ก็เช่นเดียวกับบทก่อน ๆ คือ จะกล่าวถึงเคล็ดลับ : เทคนิคแต่ละประการ พร้อมทั้งยกตัวอย่าง จากประสบการณ์ หรือเปรียบเทียบกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เรียงตามลำดับ ดังนี้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 37 เขียนตามโครงสร้างหรือกรอบที่กำหนด
หลังจากที่ได้อุตส่าห์กำหนดโครงสร้างหรือกรอบไว้ พร้อมทั้งให้ผู้รู้ช่วยตรวจให้คำแนะนำในขั้นตอนการเตรียมแล้ว เมื่อเริ่มลงมือทำก็ควรเขียนตามโครงสร้างหรือกรอบที่กำหนดไว้ไปตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำผลงานทางวิชาการประเภทหนังสือ เอกสารประกอบการสอน หรือตำรา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะกว่างานวิจัยและงานประเมิน ก็ควร เขียนไปตามนั้น
อาจมีผู้สงสัยว่า ต้องเขียนไปตามโครงสร้างหรือกรอบที่กำหนดไว้ตายตัวเลยหรือ ปรับเปลี่ยนได้บ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้วก็คงคล้ายกับการสร้างบ้าน โดยอาจปรับเปลี่ยนแปลนบ้านได้บ้างตามความเหมาะสม แต่ควรยึดโครงสร้างสำคัญไว้ ในการเขียนหนังสือซึ่งมีเวลานานในระหว่างเขียน จึงมีโอกาสจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ มาเพิ่มเติม หรือมีการปรับหัวข้อด้วยการสลับก่อนหลัง หรือรวมหัวข้อเข้าด้วยกัน เป็นต้น

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 38 อย่ารีบเขียน
คำว่าอย่ารีบเขียนในที่นี้ หมายถึง ยังศึกษาสิ่งที่จะทำจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ได้ไม่ละเอียดลึกซึ้งพอ ถ้าศึกษาอย่างผิวเผินแล้วรีบเขียนจนเกินไป ผลงานก็จะมีข้อ บกพร่องต่าง ๆ มาก ต้องเสียเวลามาปรับแก้ซึ่งมักใช้เวลามากกว่าการเขียนปกติ ในขณะที่ได้คุณภาพน้อย ควรพิจารณา ถึงผลงานที่จะทำในภาพรวมแล้วคาดการณ์คร่าว ๆ ว่าในขั้นตอนหรือหัวข้อใดควรทำอย่างไร อาจจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง และมีแนวทางจะแก้อย่างไรบ้าง
แม้จะแนะนำว่าไม่ควรรีบเขียน แต่ก็ไม่ควรช้าจนเกินไป เมื่อเข้าใจถึงภาพรวมของผลงานที่จะทำโดยคร่าว ๆ แล้วก็เริ่มลงมือเขียนได้ เท่าที่พบมาส่วนใหญ่ผู้ทำผลงานที่รีบเขียนเพราะเกรงว่าจะช้ากว่าคนอื่น หรือเป็นการปลอบใจในเชิงจิตวิทยาว่าตนเองเริ่มต้นได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจผลงานที่ทำโดยรวมดีพอ หรืออาจให้คนรอบข้างเห็นว่าไม่ใช่เป็นการเงื้อง่าราคาแพง เพียงแค่คิด แต่เริ่มทำอย่างจริงจังแล้ว ซึ่งถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องปรับแก้ภายหลัง และอาจเกิดความท้อแท้ได้ง่ายอีกด้วย

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 39 อ่านก่อนเขียน
เมื่อเข้าใจในภาพรวมของผลงานที่จะทำแล้ว ต่อมา ก็เริ่มลงมือเขียนไปตามส่วน โดยอาจเขียนเป็นบท ๆ ตอน ๆ หรือ หัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อยไปเรื่อย ๆ การเขียนแต่ละส่วนควรอ่านหรือศึกษาข้อมูลให้เข้าใจดีเสียก่อน ถ้าอ่านไม่เข้าใจ แต่ฝืนเขียนไปแล้วจะรู้สึกตะกุกตะกัก หงุดหงิด แม้ว่าฝืนเขียนในส่วนนั้น ๆ จนเสร็จแล้ว เมื่อลองอ่านดูตัวเองก็ไม่เข้าใจ ถ้าปล่อยผ่านไป ต่อเมื่อส่งให้ผู้ตรวจช่วยอ่านก็ต้องสั่งให้แก้ หรือถ้าได้พบปะกันเมื่อถามก็จะตอบ ตามนิสัยคนไทยคือยิ้ม
ส่วนในกรณีที่ไม่พยายามฝืนเขียน ก็อาจจะเกิดอาการคิดง่าย ๆ คือ คัดลอกหรือตัดแปะเอาดื้อ ๆ เมื่อเห็นว่างานเป็นรูปเป็นร่างได้เร็วก็จะติดนิสัย พอหัวข้อใดไม่เข้าใจก็คิดว่าเสียเวลาอ่าน ใช้วิธีนี้ไปตลอด การลอกหรือตัดแปะจะส่งผลเสียต่อผลงานได้มาก ซึ่งจะกล่าวในเคล็ดลับ : เทคนิคที่ 47 และ 49 ต่อไป สำหรับการอ่านก่อนเขียนนี้จะมีข้อยกเว้นได้ ถ้าเป็นการเขียนจากประสบการณ์ของผู้ทำผลงานเอง หรือคำบอกเล่าในการสัมภาษณ์ที่จำเป็นต้องคงข้อความเดิมไว้

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 40 อย่าเขียนบทหลังก่อน
การทำผลงานทางวิชาการ นอกจากจะทำหรือเขียนไปตามโครงสร้างหรือกรอบดังที่กล่าวแล้ว ควรเขียนไปตามลำดับก่อน - หลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ ตำราต่าง ๆ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงอ้างไปมาระหว่างเนื้อหาในเล่มได้อย่างเหมาะสม ถ้าเขียนส่วนหลังก่อนก็คล้ายกับการเดินถอยหลัง มีโอกาสพลาดและเสียเวลามากขึ้นได้
ตัวอย่างผลเสียที่เห็นได้เมื่อเขียนส่วนหลังก่อนก็คือ จะกล่าวรายละเอียดเรื่องเดียวกันไว้ในส่วนหลัง เพราะตามธรรมดาเมื่อคิดอะไรได้ก็ต้องเขียนออกมา เท่าที่จะคิดได้ ต่อมาเมื่อกลับมาเขียนส่วนหน้า เมื่อกล่าวรายละเอียดเหมือนเดิมอีกก็จะซ้ำซ้อน ต้องเอาข้อความของส่วนหลังมาไว้ส่วนหน้า ส่วนเนื้อหาเดิมของส่วนหลังก็อาจใช้คำว่า ดังกล่าวมาแล้วใน..........” ทำให้เสียเวลา
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 41 ใช้กระดาษหน้าเดียว
ในปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ มีนโยบายประหยัดวัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน เพื่อประหยัดงบประมาณของทางราชการ โดยให้ใช้กระดาษทั้ง 2 หน้า ยกเว้นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งถ้าเป็นเอกสารที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญก็คงใช้ได้ แต่การเขียนผลงานทางวิชาการถือเป็นเรื่องจำเป็นและใช้ทุนส่วนตัว จึงจัด เป็นข้อยกเว้นได้ เพราะถ้าใช้กระดาษ 2 หน้า แล้วโอกาสที่จะทำให้สับสน หรือเขียนเพิ่มเติมต่าง ๆ ทำได้ยาก ได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม
การทำผลงานทางวิชาการสักเรื่องหนึ่ง น่าจะใช้กระดาษเบ็ดเสร็จตั้งแต่เขียนร่าง พิมพ์มาตรวจแก้ประมาณ 1 - 9 รอบ โดยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 4 รอบ น่าจะใช้กระดาษเพียง 3 - 4 รีม เท่านั้น คิดเป็นเงินโดยรวมประมาณ 200 -300 บาท ถ้าจะประหยัดโดยใช้กระดาษ 2 หน้า คิดเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย เพราะปริมาณกระดาษที่ใช้ไม่มากเหมือนกับในสำนักงานทั่วไป จึงควรใช้กระดาษหน้าเดียวตลอดทุกขั้นตอนการทำผลงาน

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 42 เขียนเว้นบรรทัด
เคล็ดลับ : เทคนิคนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการใช้กระดาษหน้าเดียว คือเพิ่มเงินอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อความสะดวก เพราะการเขียนผลงานทางวิชาการด้วยการร่างในเบื้องต้นนั้น อาจมีประเด็นเนื้อหาต่าง ๆ ขาดตกบกพร่องไปบ้าง เมื่อนึกขึ้นมาได้ถ้าเป็นข้อความเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเสริมระหว่างบรรทัดได้ทันที โดยไม่ทำให้ดูสกปรกรกรุงรัง ถ้าไม่เว้นบรรทัดไว้ก็ต้องมีการโยงไปมา บางครั้งโยงไปแล้วยังโยงอีก กลายเป็นโยงซ้อนโยงขึ้นบนลงล่าง ไปด้านข้าง ถ้าจะไปด้านหลังอีกก็ต้องใช้กระดาษหน้าเดียวดังกล่าวแล้ว การโยงไปโยงมาจะเป็นที่หวาดผวาแก่คนพิมพ์มาก แค่รับงานเมื่อเปิดไปดูคร่าว ๆ แล้วก็เข่าอ่อนเตรียมเป็นลมไว้ล่วงหน้า
อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะกับคนพิมพ์เท่านั้น เจ้าของผลงานเองก็ต้องรับส่วนบุญด้วยเช่นกัน เพราะบางครั้งเมื่อคนพิมพ์คิดจะช่วย โดยพยายามทำความเข้าใจเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่เข้าใจก็อาจนำไปพิมพ์ผิดที่จากที่โยงไว้ หรือถ้าเห็นว่ายุ่งนักก็ข้ามไปเสียดื้อ ๆ เพราะค่าจ้างพิมพ์นับเป็นจำนวนแผ่น ถ้าขาดไปแค่บรรทัดสองบรรทัดคงไม่เป็นไร โดยเฉพาะคนพิมพ์ที่ดูใจดี ๆ ยิ้ม ๆ ยิ่งน่ากลัว คนที่ขี้บ่นหน่อยยังดีกว่าเพราะอาจมีการถามไถ่ เข้าทำนองบ่นพลางช่วยพลาง ก็ลดภาระในการตรวจลงแลกกับการถูกบ่น แต่ถ้าพิมพ์ผิดที่หรือข้ามไปและผู้ทำก็รีบส่งโดยไม่ได้ตรวจด้วยแล้วก็คงนึกภาพออกว่าน่าจะลงเอยอย่างไร
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 43 ใช้ภาษาของตัวเอง
คนแต่ละคนจะมีสำนวนภาษาต่างกัน อาจเรียกว่าเป็นลีลาเฉพาะตัว แม้จะเป็นผลงานทางวิชาการที่ต้องใช้ภาษาเขียนอย่างเป็นทางการ ก็มีความแตกต่างกันได้ เปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ระหว่างหนังสือหรือตำราแต่ละเล่มที่มีชื่อเรื่องหรือเนื้อหาเดียวกัน บางเล่มก็อ่านเข้าใจง่าย บางเล่มก็พอเข้าใจ บางเล่มแม้เป็นภาษาไทยก็ยังต้องแปลเป็นไทยอีกครั้งกว่าจะเข้าใจได้ก็ต้องใช้เวลานาน หรือพาลไม่อ่านต่ออีก
ผู้เขียนบางคนเขียนหนังสือเรียบง่าย เช่น ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ 5 อย่าง ก็อาจเขียนว่า 1 2 3 4 และ 5 ในขณะที่บางคนอาจเขียนว่า 1 และ 2 รวมทั้ง 3 ตลอดทั้ง 4 นอกจากนี้ยังมี 5 ก็ได้ ดังนั้น ควรใช้ภาษาหรือสำนวนของตัวเอง เพื่อให้มีความสม่ำเสมอไปตลอดทั้งเล่ม
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 44 เขียนตรงไปตรงมากระชับ
คนตรงเป็นคนที่น่าคบหา พูดจาก็ไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก ในการเขียนผลงานทางวิชาการก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่ต้องการความรู้หรือผลจากการวิจัยจริง ๆ ผู้เขียนต้องเขียนผลที่ได้อย่างตรงไปตรงมา กระชับ ถ้าเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลได้ผลอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น ไม่ควรแสดงความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าผลที่ได้จะไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ก็ตาม ถ้าจะแสดงความเห็นก็ควรไปแสดงในหัวข้ออภิปรายผลหรือข้อเสนอแนะได้
ในปัจจุบัน ถ้าสังเกตจะพบว่ามีการตอบไม่ตรงคำถามกันมากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมืองซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องพูดให้คลุมเครือเข้าไว้ เผื่อว่าจะได้พลิกกลับได้ง่ายในภายหลัง บางครั้งเป็นการตอบวนเวียนลักษณะไปไหนมาสามวาสองศอก หรือพูดยอกย้อนวกวน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนถามว่า 2+2 ได้เท่าไร ก็ควรตอบว่า 4 ไม่ควรพูดเกริ่นนำยาวเกิน เช่น การบวก หมายถึง การเพิ่มปริมาณหรือจำนวน เหมือนกับตักน้ำใส่โอ่ง หรือตักข้าวใส่จาน หรือขยายพันธุ์พืช....... ...........เผลอ ๆ อาจไม่ได้คำตอบว่าเท่าไรกันแน่ หรือมัวแต่อารัมภบทแล้วตอบผิดว่า 2+2 เป็น 8 ก็ได้
ในบางกรณีที่ไม่เขียนตรง ๆ อาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เช่น ถ้าสอบแข่งขันกัน 2 คน ผู้ที่สอบได้ที่ 2 หรือแพ้ อาจพูดว่าเราได้รองแชมป์ ส่วนคู่แข่งได้รองบ๊วย ซึ่งถ้าผู้ฟังไม่รู้จำนวนผู้เข้าสอบ ก็อาจเข้าใจผิดตามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริงได้
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 45 ใช้ภาษาเขียน
การเขียนผลงานทางวิชาการ ต้องใช้ภาษาเขียน ซึ่งมีลักษณะกว้าง ๆ 3 ประการ คือ ประการแรกมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามขอบเขตที่ต้องการนำเสนอ แม้ว่าผู้อ่านไม่เคยมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นมาก่อน ก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่ายหรือเข้าใจได้มากที่สุด ประการที่สองต้องถูกหลักไวยากรณ์ เป็นประโยชน์สมบูรณ์ ไม่ตัด ไม่ย่อ โดยละไว้ในฐานเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านต้องนึกเอาเอง ถ้าเวลาผ่านไปนาน ๆ ก็อาจนึกไม่ออกหรือนึกผิด และประการที่สามใช้คำสำหรับภาษาเขียน ซึ่งเป็นคำกลางๆ ที่สุภาพเหมาะสำหรับทุกกลุ่ม (ปรีชา ช้างขวัญยืน (บก.), 2550 : 15)
นอกจากลักษณะภาษาเขียนข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ให้คาถาเขียนหนังสือไว้ 4 ประการ ว่า 1) เขียนภาษาคน 2) เขียนอย่างคนเขียน 3) เขียนให้คนอ่าน และ 4) ให้คนอ่านเข้าใจเหมือนคนเขียน (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2546 : ส่วนนำ) ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น หนังสือตำราของศาสตราจารย์บุญธรรม จึงได้รับความนิยมจากผู้อ่านด้วยดีตลอดมา สำหรับในหนังสือของผู้เขียนเล่มนี้ก็พยายามเขียนให้อ่านง่าย ๆ ไม่เป็นวิชาการจนเกินไป เพื่อไม่ให้ผู้อ่านต้องเคร่งเครียด บางตอนก็อาจยกตัวอย่างด้วยภาษาพูดบ้าง เพราะไม่ถือเป็นผลงานทางวิชาการ เพียงแต่เขียนเรื่องเกี่ยวกับผลงานทางวิชาการเท่านั้น
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 46 ค้นมากเหนื่อยน้อย ค้นน้อยเหนื่อยมาก
การที่จะเขียนได้จะต้องมีการค้นคว้าจากเอกสารหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ ให้เพียงพอ ยกเว้นส่วนที่เขียนจากประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องค้นคว้า ในปัจจุบันการค้นคว้าทำได้สะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก แม้ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถค้นคว้าได้โดยไม่ต้องไปกรุงเทพ หรือไปเพียงน้อยครั้งได้ ดังนั้น จึงควรค้นคว้าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำให้มากที่สุด ถ้าค้นน้อยเมื่อไม่เพียงพอต้องค้นใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างเวลาที่ใช้ค้นให้มากตั้งแต่แรก กับเวลาที่ต้องไปค้นเพิ่มเติมภายหลังแล้ว จะพบว่าการค้นเพิ่มเติมจะเสียเวลามากกว่า
ถ้าจะยกตัวอย่างง่าย ๆ สำหรับนักดื่มที่เห็นได้ชัดคือ เตรียมซื้อของไว้ไม่พอกับปริมาณที่จะดื่ม เช่น ซื้อโซดามาเพียง 2 - 3 ขวด เมื่อหมดก็ต้องออกไปซื้อใหม่ ในขณะกำลังเริ่มเมา ร้านค้าใกล้ ๆ ก็อาจจะปิดแล้วต้องขับรถไปไกลขึ้น ในขณะที่ทุกคนกำลังเมาต้องมีการเกี่ยงกัน ทั้งเสี่ยง ทั้งผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับกำลังเขียนอยู่ เมื่อขาดเอกสารก็ต้องออกไปค้น หากเป็นช่วงเวลากลางคืนก็ค้นไม่ได้ จะข้ามไปเขียนส่วนหลังก่อน ก็อาจมีปัญหาดังกล่าวมาแล้ว แทนที่จะเหนื่อยเพียงเล็กน้อยด้วยการค้นให้ครบเสียตั้งแต่ทีแรก ก็เลยกลายเป็นเหนื่อยมาก
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 47 อย่าลอก
การใช้ข้อความของผู้อื่น ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการทำผลงานทางวิชาการ แต่ก็ต้องมีการอ้างอิงดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่อ้างอิงจะกลายเป็นการลอกซึ่งสะดวก ง่าย แต่ผลร้ายก็มีมากอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เพราะเมื่อเขียนเสร็จต้องผ่านด่านผู้ตรวจ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตรงกับผลงานของเรา ต้องเสี่ยงที่จะถูกจับได้ และผู้ทำผลงานเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ เมื่อมีการลอกและถูกตรวจพบ นอกจากจะไม่ผ่านแล้วยังมีความผิดทางวินัยพ่วงมาเป็นของแถมอีกด้วย
จากประสบการณ์ที่เคยทราบมา และเห็นตัวอย่างพบว่าผู้ทำผลงานโดยลอกของผู้อื่น ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม บางครั้งเวรกรรมติดจรวดจริง ๆ คือ เมื่อส่งผลงานไปให้ผู้ตรวจ ปรากฏว่าเนื้อหาข้อความที่ลอกไปเป็นของผู้ตรวจเอง จึงรู้ได้ทันทีพร้อมทั้งให้ผลงานนั้นตก แล้วยังมีของแถม คือ แจ้งมายังผู้บังคับบัญชาของผู้ทำผลงานอีกด้วย สุดท้ายนอกจากผลงานจะไม่ผ่านแล้ว ยังถูกตั้งกรรมการสอบสวนเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างครึกโครมในที่ทำงานด้วย

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 48 อย่านำผลงานของผู้อื่น ทั้งเล่มมาปรับ
เคล็ดลับ : เทคนิคนี้มีลักษณะคล้ายกันกับการลอก อาจต่างกันบ้าง คือ การลอกมักจะลอกเป็นส่วน ๆ โดยอาจไม่เข้าใจหรือเร่งรีบในส่วนนั้น ๆ แต่การนำผลงานของผู้อื่นทั้งเล่มมาปรับดูจะรุนแรงกว่า คือ ใช้แทบทั้งเล่ม เปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เป็นชื่อสถานที่ กลุ่มตัวอย่างบ้างเท่านั้น เข้าทำนองสวมรอย โดยนำผลงานจากต่างถิ่นที่คาดว่าไม่น่าจะมีคนรู้ในพื้นที่ของตน ซึ่งเป็นการผิดจริยธรรมและเสี่ยงอย่างรุนแรง
จากประสบการณ์ เคยเจอลักษณะดังกล่าวโดยพูดคุยชี้แจงกับผู้ทำผลงานว่า ถ้าจะทำเช่นนี้ยากที่จะทำได้แนบเนียนขนาดคนตรวจไม่รู้ ต้องมีร่องรอยให้ตรวจพบได้ เพราะถ้ามีความสามารถทำได้ขนาดนั้น ก็แสดงว่าสามารถเขียนใหม่โดยไม่ต้องใช้ของคนอื่นมาปรับ ซึ่งผู้ทำผลงานก็เห็นด้วยและยอมเลิกการกระทำดังกล่าว
นอกจากนี้ ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ก็ต้องสอบปากเปล่า และถ้าเป็นผลงานเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะ ผู้ตรวจ มีข้อสงสัยก็สามารถจะเรียกมาสอบถามก็ได้ ถ้าใช้วิธีดังกล่าว ก็จะเครียด นอนไม่หลับ ปากแห้ง อาจจะไม่กล้าไปพบ หรือถ้าเป็นจำเลยก็คือลักษณะเลี่ยงไม่ให้ปากคำ แต่ขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 49 อย่าตัดแปะโดยไม่ปรับ
การตัดแปะหรือตัดปะ มีลักษณะเหมือนการลอก เพียงแต่ลอกอาจต้องเขียนตามข้อความเดิม ซึ่งทำให้เสียเวลา แต่มีข้อดีอยู่บ้าง คือ ก่อนจะลอกก็ต้องอ่านและระหว่างที่เขียนก็อาจได้ความรู้บ้าง แต่การตัดแปะถือว่ารวบรัดตัดความ สะดวก รวดเร็ว ปัจจุบันนักศึกษานิยมกันมากในการทำรายงานส่ง อุปกรณ์หลัก ๆ คือ กรรไกร กาว และแม็กซ์ คล้ายกับผู้วิเศษ ทำรายงานเสร็จได้ในเวลาสั้นๆ โดยแทบไม่ต้องใช้ปากกา ได้ยินแต่เสียงตัดและเย็บกระดาษ เป็นช่วงๆ เป็นการหลอกตัวเองและอาจารย์อย่างรุนแรง และที่สำคัญก็คือ ถ้าได้ผลการเรียนในวิชานั้น ๆ ในเกณฑ์ดีก็จะมีนิสัยมักง่ายติดตัวไปได้
การตัดแปะนั้นสามารถทำได้ แต่ควรปรับข้อความ ให้เป็นของตนเอง และมีการเชื่อมโยงระหว่างย่อหน้าให้ราบรื่น เหมือนกับการก่ออิฐก็ต้องใช้ปูนเป็นตัวเชื่อมระหว่างก้อนอิฐด้วย เพราะข้อความที่ตัดแปะมานั้นแต่ละคน ก็จะมีสำนวนของตัวเองดังกล่าวแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับและเชื่อมโยงโดยใช้ภาษาของผู้เขียนเอง และอย่าลืมอ้างอิงด้วย

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 50 ตัดแปะน้อย ๆ เขียนใหม่ดีกว่า
เคล็ดลับ : เทคนิคนี้คล้ายกับการตัดแปะโดยไม่ปรับ เนื่องจากบางคนติดนิสัยตัดแปะไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะมีข้อความมากหรือน้อยขอตัดแปะเอาไว้ก่อน ซึ่งถ้าเป็นข้อความน้อย ๆ และต้องมาปรับเปลี่ยนในตัวข้อความ รวมทั้งใช้คำเชื่อมโยงระหว่างข้อความอื่น ๆ ด้วยแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ลดเวลาในการเขียนลงมาเลย หรืออาจใช้เวลามากกว่า เขียนใหม่ด้วยซ้ำ
จากประสบการณ์ที่นาน ๆ ครั้งจะใช้วิธีตัดแปะข้อความพบว่า ถ้าเป็นข้อความน้อย ๆ เพียง 4 - 5 บรรทัด กว่าจะหากรรไกรก็เสียเวลาไปบ้างแล้ว เมื่อตัดเสร็จแล้วกระดาษจะมีขนาดความยาวน้อยคล้าย ๆ เส้นก๋วยเตี๋ยว เมื่อเย็บแม็กซ์เสร็จก็เริ่มปรับข้อความและเขียนให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเวลาโดยรวมแล้วพบว่า ใช้เวลามากกว่าเขียนใหม่ด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าต้องแปะข้อความเพียงเล็กน้อยก็ควรเขียนใหม่ดีกว่า
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 51 ระวังการก๊อปปี้จากคอมพิวเตอร์
การนำผลงานหรือข้อความของคนอื่นมาใช้ โดยไม่อ้างอิงเริ่มตั้งแต่ยุคแรกที่เรียกว่าคัดลอก ต่อมาเมื่อค่าถ่ายเอกสารถูกขึ้นก็เป็นการตัดแปะ ยุคปัจจุบัน คือ การก๊อปปี้ไฟล์ต่าง ๆ จากคอมพิวเตอร์ จึงมีผู้หัวใสทำแผ่นซีดีออกวาง จำหน่าย เพื่อให้ผู้ทำผลงานทางวิชาการมีความสะดวกรวดเร็วขึ้นมาอีก ทั้งไม่ต้องเขียน ไม่ต้องพิมพ์ใช้ได้เลย เหมือนกับอาหารสำเร็จรูป ซึ่งผลที่ได้อาจจะรุนแรงกว่าการตัดแปะเสียอีก เพราะถ้าไม่ชำนาญการใช้คอมพิวเตอร์ก็ปรับข้อความหรือเชื่อมโยงได้ลำบาก
นอกจากการก๊อปปี้ไฟล์ของผู้อื่นแล้ว แม้แต่การก๊อปปี้ไฟล์จากเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ของผู้ทำผลงานเองก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน ถ้าไม่มีการปรับให้สอดคล้องกับเนื้อหาของส่วนต่าง ๆ หรือปรับแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ และขาดการตรวจสอบด้วยแล้วก็จะผิดพลาดได้ง่าย ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าทุกสิ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คอมพิวเตอร์ ก็เช่นกันถ้าใช้อย่างไม่ระวังก็ทำให้เสียหายได้

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 52 อย่าข้าม
ดังที่กล่าวตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิไว้แล้วว่า การเขียนต้องครอบคลุมสมบูรณ์ แม้แต่ผู้อ่านที่ยังไม่เคยรู้เรื่องที่ทำมาก่อนเลยก็สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ หรือ เข้าใจได้มากที่สุด ดังนั้น จึงไม่ควรข้ามด้วยสาเหตุต่างๆ ที่พบมากคือ ผู้เขียนเองยังไม่เข้าใจเกรงว่าจะเสียเวลาต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหานั้น ๆ จะลอกหรือตัดแปะก็เกรงว่าจะผิดหลักการ จะปรับบ้างก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี จึงใช้วิธีข้ามไปเลย เหมือนกับบุคคลหายสาบสูญโดยอาจคิดว่าไม่มีใครสนใจจะกล่าวถึงแล้ว
ในที่นี้เห็นว่าไม่ควรข้ามไปเสียดื้อ ๆ ถ้าไม่เข้าใจจริง ๆ แล้ว อย่างน้อยก็ควรกล่าวถึงไว้บางส่วนแล้วบอกว่า ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากที่ใดบ้าง ต่อมาถ้าพอมีเวลาก็อาจกลับมาทบทวนเป็นระยะ หรือสอบถามผู้รู้เผื่อว่าอาจจะเข้าใจได้ดีขึ้น ก็จะได้ปรับข้อความใหม่ ถ้าไม่มีเวลาและต้องรับส่งให้ทันตามกำหนดก็คงต้องใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นพอกล้อมแกล้มไปก่อน

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 53 อ่านทบทวนเป็นระยะ
เมื่อเริ่มเขียนผลงานไปได้บ้างแล้ว ก็ควรอ่านทบทวนเป็นระยะ ๆ ทั้งเพื่อตรวจสอบหาข้อบกพร่องหรือเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางในการเขียนส่วนต่อ ๆ ไป ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งแม้ว่าต้องใช้เวลาบ้างก็ไม่เป็นไร ในขั้นตอนการทำนี้ถือว่าเป็นการตรวจสอบระหว่างดำเนินการ เมื่อพบข้อบกพร่องหรือเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอย่างไรก็จะได้ดำเนินการไว้ล่วงหน้า ส่วนการตรวจสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อเสร็จแล้วถือเป็นการตรวจในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง
การทบทวนนั้นอาจทบทวนด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นช่วยด้วยก็ได้ แต่ควรเป็นคนใกล้ชิดที่อยู่ใกล้ตัวมอบงานให้และตรวจได้ในเวลารวดเร็ว ถ้าจะให้ผู้รู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญก็ต้องสนิทสนมกันจริง ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ควรจะขอความช่วยเหลือ เมื่อเขียนเสร็จสมบูรณ์แล้วจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ทำผลงานบางคนที่ไม่ได้ทบทวนระหว่าง เขียนโดยตรวจคราวเดียวเมื่อเขียนเสร็จเลย ซึ่งถ้าพบข้อบกพร่องมากก็อาจเสี่ยงต่อการแก้ไขปรับปรุงไม่ทัน

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 54 ไม่ต้องเน้นปริมาณ
ผลงานทางวิชาการเท่าที่พบมาเกือบทั้งหมด จะมีปริมาณเนื้อหาโดยรวมเกินกว่า 100 หน้า โดยเป็นเนื้อหาหลักประมาณ 45 - 50 หน้า ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจเป็นภาคผนวกต่าง ๆ เมื่อผู้ทำผลงานเห็นว่างานที่จะเขียนต้องมีจำนวนหน้ามาก เกรงว่าจะเขียนได้น้อยก็เลยพยายามหาโอกาสเพิ่มจำนวนหน้าให้มากไว้ก่อน โดยการเพิ่มเติมเนื้อหาทีละเล็กทีละน้อย แม้ว่าจะซ้ำซ้อนกันบ้างก็ขอเพิ่มไว้ก่อน
จากประสบการณ์พบว่า ไม่จำเป็นต้องเน้นที่จำนวนหน้า ให้เขียนตามความจริง การทำผลงานทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วจะได้จำนวนหน้าที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ถ้าเห็นว่ายังมีเนื้อหาน้อยก็ควรเพิ่มเนื้อหาสำคัญ ๆ หรือเพิ่มหัวข้ออื่น ๆ จะเหมาะกว่าการใช้วิธีเพิ่มตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย หรือใช้เนื้อหาเดิมมาเขียนใหม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 55 เนื้อหาแต่ละส่วนควรใกล้เคียงกัน
การเขียนผลงานทางวิชาการ ควรให้มีเนื้อหาของแต่ละส่วน แต่ละบท แต่ละหัวข้อในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ถ้ามีปริมาณแตกต่างกันก็ไม่ควรเกินเท่าตัว ถ้าเป็นหนังสือแต่ละบทควรมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ยกเว้นบทแรกหรือบทนำอาจมีเนื้อหาต่างจากบทอื่น ๆ ได้ ถ้าแต่ละส่วนแต่ละบทหรือแต่ละหัวข้อมีเนื้อหาต่างกันมากเกินไปก็ต้องปรับได้ 3 วิธี คือ ตัดส่วนที่มากออก ถ้ายังคงมีเนื้อหาโดยรวมเพียงพอ การเพิ่มส่วนที่น้อย และใช้ทั้งการตัดและการเพิ่มในลักษณะวิ่งเข้าหากัน
จากประสบการณ์พบว่า ผู้ทำผลงานจะเขียนไปตามปริมาณเนื้อหาที่ค้นคว้ามาได้ อันเนื่องมาจากการคัดลอกหรือตัดแปะ เมื่อได้รับคำแนะนำให้เพิ่มเนื้อหาให้ใกล้เคียงกัน บางรายก็จัดการค้นคว้ามาเพิ่ม บางรายเห็นว่ายุ่งยากก็ตัดหัวข้อที่มีเนื้อหาน้อยออกไปเสียเลย ทำให้ขาดความสมบูรณ์ ซึ่งถ้าจะค้นเพิ่มจริง ๆ ก็มีเนื้อหาพอ ที่ได้แนะนำให้คนเพิ่มก็เพราะว่าเคยเห็นเนื้อหาหัวข้อเดียวกันที่ผู้อื่นเคยนำมาปรึกษาแล้ว หรือแม้จะเป็นหัวข้ออื่น ๆ ก็มีโอกาสน้อยมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่คนได้เนื้อหาน้อยขนาดนั้น เว้นเสียแต่ค้นไม่ได้หรือไม่อยากค้นและขี้เกียจเขียนเพิ่มเติม หรือเห็นว่าเสียเวลาต้องปรับอีกมากกว่า
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 56 อ้างอิงแล้วให้ลงบรรณานุกรมทันที
เมื่อเริ่มเขียนในส่วนที่เป็นเนื้อหาของผลงานทางวิชาการ ก็จะเริ่มมีการอ้างอิง ซึ่งมีหลักว่าอ้างอิงมีจำนวนเท่าใด บรรณานุกรมก็ต้องมีเท่ากัน หรืออาจถือเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ เพียงแต่บรรณานุกรมจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมและลงรายการเพียงครั้งเดียว ส่วนอ้างอิงสามารถทำได้มากกว่า 1 ครั้ง จากหลักข้างต้นเมื่ออ้างอิงแล้ว เพื่อเป็นการกันลืมจึงควรลงบรรณานุกรมทันที โดยจัดเตรียมกระดาษต้นฉบับสำหรับร่างบรรณานุกรมไว้ด้วยเลย
ถ้าไม่ได้เตรียมกระดาษต้นฉบับไว้ และคิดว่าค่อยลงรายการบรรณานุกรมเมื่อเสร็จในคราวเดียวเลย ก็ต้องมาตรวจรายการในเนื้อหาไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจตรวจข้ามไปได้กลายเป็นอ้างอิงไว้แล้วไม่มีบรรณานุกรม หรือแม้แต่ตรวจ ครบถ้วนถูกต้อง แต่เอกสารบางเล่มยืมมาและคืนไปแล้ว โดยไม่ได้จดรายละเอียดที่จะลงบรรณานุกรมไว้ ก็ต้องเสียเวลาไปหามาอีกครั้ง ที่ร้ายที่สุดคือ ถ้าไม่ได้ก็จะยุ่งยากมาก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 57 เขียนความจริงง่ายกว่า
คนที่พูดจริงกี่ครั้งก็เหมือนเดิม เสียงดังฟังชัดเป็นการพูดที่น่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับการเขียน ผู้ทำผลงานที่เขียนตามความจริง โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่รู้ดังกล่าวไว้ตั้งแต่เคล็ดลับ : เทคนิคแรกแล้ว ก็จะเขียนได้อย่างรวดเร็ว หนักแน่น น่าเชื่อถือ ในทางกลับกันถ้าไม่เขียนความจริงก็จะต้องเสียเวลาประดิดประดอยคำ ทำให้ไม่เป็นธรรมชาติ เขียนเสร็จแล้วอ่านทีไรก็กังวลทุกทีว่าคนอื่นจะจับได้หรือไม่
การเขียนสิ่งที่ไม่เป็นความจริง นอกจากต้องใช้เวลานานแล้ว ยังเสี่ยงต่อการขาดความสมเหตุสมผลและความสม่ำเสมออีกด้วย เข้าทำนองถ้าพูดโกหกก็ยากที่จะโกหกได้เหมือนกันทุกครั้ง โดยอาจลืมไปแล้วว่าเคยโกหกไว้อย่างไร แม้ว่าการเขียนต่างกับการพูด เพราะตรวจสอบได้แต่ก็ไม่คุ้มกับเวลาและความกังวล รวมทั้งความรู้สึกผิดอีกด้วย
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 58 เขียนความจริงได้ไม่ค่อยดี ดีกว่าเขียนดีแต่ไม่จริง
เคล็ดลับ : เทคนิคนี้ต่อเนื่องจากข้างต้น ว่าต้องยึดความจริงเป็นหลัก แม้ว่าบางคนอาจจะเขียนได้ไม่ดีเพราะยังขาดทักษะการเขียน แต่ถ้าสิ่งที่เขียนเป็นเรื่องจริง ก็ยังดีกว่าที่ประดิดประดอยข้อความโดยปราศจากความจริง คำว่าความจริงนี้ คือ ความจริงในการทำผลงานก่อนจะเขียน ซึ่งถ้าเป็นผลงานประเภทการวิจัยและพัฒนา ผู้วิจัยก็ต้องคิดนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ขึ้นแล้วนำไปทดลองใช้จริง โดยถ้าเป็นการทำผลงานเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งหรือวิทยฐานะก็มักทดลองใช้ในหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติ
จากประสบการณ์พบว่า มีผลงานทางวิชาการบางเรื่อง ถ้าพิจารณาในแง่ระเบียบวิธีวิจัยแล้วไม่น่าจะผ่านเกณฑ์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ที่เขียนมาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการมากกว่า แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดแล้ว งานที่เขียนได้ไม่ค่อยดีนักจะมีจุดเด่นที่สำคัญยิ่ง คือ ผู้ตรวจมีความเห็นว่าผู้เขียนได้ทำจริงแต่เขียนไม่ค่อยเก่งก็ให้โอกาสปรับแก้ ในขณะที่เขียนมาอย่างดีแต่ผู้ตรวจพิจารณาเห็นว่าไม่ได้ทำจริงก็ไม่ให้ผ่าน หรือแม้แต่ปรับแก้ก็ไม่ให้โอกาส เพราะไม่สามารถจะย้อนกลับไปทดลองใช้ ได้อีก
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 59 สรุปทุกขั้นตอน
หลังจากที่ได้ค้นคว้า นำมาเรียบเรียงโดยปรับให้เป็นภาษาสำนวนของตนเองแล้ว ผู้ทำผลงานต้องสรุปทุกขั้นตอนหรือทุกหัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อย่อย หัวข้อรอง หัวข้อหลัก และสรุปในภาพรวม โดยถ้าเป็นการทำผลงานประเภทวิจัย หรือประเมินก็ต้องสรุปในบทที่ 2 ของรายงาน ถ้าเป็นผลงานประเภทหนังสือ ตำรา เอกสารประกอบการสอนก็ต้องสรุปทุกบท
การสรุปจะทำให้เกิดความเข้าใจ และเห็นความเหมือนความต่างของเนื้อหาที่เรียบเรียงมา รวมทั้งเห็นข้อ บกพร่องของการค้นคว้า การเรียบเรียงได้ว่ายังขาดอะไรไปบ้าง หรือไม่สอดคล้องกันอย่างไร โดยสรุปไปทีละขั้น ๆ ซึ่งถ้าเนื้อหาที่ได้มาเป็นการลอกหรือตัดแปะ หรือก๊อปปี้ไฟล์มาโดยไม่ได้ศึกษาและปรับข้อความดังกล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้สรุปได้ยากเพราะยังขาดความเข้าใจ นั่นคือแม้ว่าจะหลบด่านแรกมาได้แต่ก็ต้องมาตายตอนท้ายอยู่ดี
เคล็ดลับ : เทคนิคที่ 60 แสดงความเห็น
ในเคล็ดลับ : เทคนิคที่ 59 ซึ่งเป็นการสรุปตามเนื้อหาที่ได้เรียบเรียงไว้ ต่อมาก็ควรแสดงความเห็นของผู้ทำผลงานที่มีต





Not Rated stars เฉลี่ย : Not Rated จาก 0 ครั้ง.

บทความทางวิชาการ5 อันดับล่าสุด

      เอกสารที่เกี่ยวข้อง : การค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการ คืออะไร 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการมีกี่ประเภท 11/ส.ค./2556
      ผลงานทางวิชาการที่ดีเป็นอย่างไร 11/ส.ค./2556
      ความสำเร็จ : ล้มเหลวในการทำผลงานทางวิชาการ 11/ส.ค./2556